การอบรมสำหรับบุคคลทั่วไป

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ : ชุดหลักสูตร

กระบวนกรเพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้
กระบวนกร รุ่น8 (ปี2566)

“กระบวนกร” เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มคน เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง ให้สามารถพัฒนาความรู้เหล่านั้นในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า “ทุกคนมีศักยภาพภายในและสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนา เปลี่ยนแปลงตนเองได้”

ในกระบวนการอบรมเป็นการสร้างสรรค์หรือจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย เชื่อมโยงองค์ความรู้แต่ละด้านไปสู่การปฏิบัติจริงในชีวิต และมีบรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตรที่เกื้อกูลกัน ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนในหลากหลายด้าน ทั้งด้านทัศนคติ ด้านจิตใจ(ความมั่นคงภายใน) และด้านพฤติกรรม

กิจกรรมนี้เหมาะสำหรับบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ที่สนใจกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ตนเองและสังคม การทำงานเป็นเครือข่าย และต้องการพัฒนาทีมบุคลากรที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบมีส่วนร่วมได้

กำหนดการ

อบรมจํานวน 5 ครั้ง ได้แก่

  1. สร้างสรรค์ความสัมพันธ์เพื่อรากฐานของพื้นที่การเรียนรู้ที่ทรงพลัง
    วันที่ 16-18 มิถุนายน 2566 (ศ.-อา.)
  2. ภาวะผู้นำในความเป็นกระบวนกร
    วันที่ 28-30 กรกฎาคม 2566 (ศ.-อา.)
  3. การฝึกฝนทักษะพื้นฐานอย่างเป็นลำดับสำหรับกระบวนกร
    วันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2566 (พฤ.-อา.)
  4. การออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และการสรุปบทเรียนอย่างเชื่อมโยงลงลึก
    วันที่ 5-8 ตุลาคม 2566 (พฤ.-อา.)
  5. การจัดการเรียนรู้เพื่อสำรวจและเปลี่ยนแปลงโลกภายในของผู้เรียน
    วันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2566 (พฤ.-อา.)

เงื่อนไขการเข้าอบรม

เนื่องจากปีที่ผ่านมามีท่านที่สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก และด้วยเสมฯ เปิดรับจำนวนจำกัดเพียง 36 ท่านเท่านั้น โดยรับผู้เข้าอบรม 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คนทำงานภาคสังคม เพื่อนำกระบวนการไปพัฒนาคน พัฒนาองค์กรภายใน
กลุ่มที่ 2 คนทั่วไปที่ไม่ได้มุ่งเน้นแสวงหาผลกำไรส่วนตนเป็นหลัก

ทั้งนี้ ทางทีมเสมสิกขาลัยจึงขอทำการคัดเลือกผู้สมัครที่มีความเหมาะสมกับเนื้อหาการเรียนรู้ และมาจากหลากหลายอาชีพ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมตลอดทั้งหลักสูตรการอบรม

เนื้อหาการอบรม

เนื้อหาหลักสูตรที่ 1
สร้างสรรค์ความสัมพันธ์เพื่อรากฐานของพื้นที่การเรียนรู้ที่ทรงพลัง
  เนื้อหาการอบรม

  1. “การจัดกระบวนการเพื่อเอื้ออำนวยให้ง่าย”(Facilitate ตัวย่อ = Fa) นั้นสำคัญอย่างไรต่อการจัดการเรียนรู้ที่ทรงพลังต่อการประชุมพูดคุยร่วมกันในกิจการงาน ในทุกเป้าประสงค์ของกลุ่มองค์กร รวมถึงสำคัญอย่างไรต่อการแสวงหาความร่วมมือของกลุ่มองค์กร
  2. บทบาทหน้าที่ของ “กระบวนกร” (Facilitator)ในมุมกว้างสามารถทำอะไรได้บ้าง ในการการเป็นอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว กลุ่มองค์กรและในระดับสังคม
  3. การสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นรากฐานในการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กรและสังคม ทั้งในแง่พื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน  พื้นที่ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มาจากความแตกต่างหลากหลาย และพื้นที่การหล่อหลอมพลังร่วมเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างไหลลื่น
  4. เราจะทำการสืบค้นสำรวจถึงสาเหตุอย่างลงลึกและรอบด้านว่าเพราะอะไรการเป็นอยู่ร่วมกันและการทำงานร่วมกันในเวลาที่เนิ่นนานขึ้น จึงมีแนวโน้มทำให้คนมีความสุขน้อยลง  ความสัมพันธ์แย่ลง ซึ่งมักนำไปสู่ผลงานที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ
  5. ทางออกสำคัญเพื่อทำให้การเป็นอยู่และการทำงานร่วมกันมีทิศทางที่ดีขึ้น ศึกษาบทบาทหน้าที่ของกระบวนกรในการสนับสนุนภารกิจนี้ว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์ที่กลุ่มองค์กรกำลังย่ำแย่
  6. เหตุใดการเป็นอยู่และการทำงานร่วมกัน ตลอดจนการเรียนรู้ร่วมกันจึงมีแนวโน้มทำให้เกิดความรู้สึกเสี่ยงไม่ปลอดภัย ในการจัดกระบวนการต่างๆ ในการทำงานหรือในการเรียนรู้  กระบวนกรจะเผชิญหน้าและรับมือกับความรู้สึกเสี่ยงไม่ปลอดภัยจนสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มคนได้อย่างไร

เนื้อหาหลักสูตรที่ 2
ภาวะผู้นำในความเป็นกระบวนกร

  1. เหตุใดการบริหารหรือการนำกลุ่มองค์กรของผู้นำจึงมีแนวโน้มสร้างความอึดอัดขัดเคืองจากลูกน้อง ไม่สามารถหล่อหลอมพลังร่วมให้ขับเคลื่อนงานได้อย่างมีพลัง และการเข้าถึงหัวใจของการ Fa รวมถึงการมีทักษะต่างๆในการ Fa ของผู้นำสำคัญอย่างไรในการขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างมีพลัง  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้นำกลุ่มองค์กรจำเป็นต้องมีทักษะของกระบวนกร
  2. เหตุใดครูหรือวิทยากรที่สร้างการเรียนรู้ให้คนจึงจำเป็นต้องมีภาวะผู้นำที่ลุ่มลึก ในขณะที่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากซับซ้อนในการจัดการเรียนรู้กับผู้เรียนที่แตกต่างหลากหลาย  และมีสิ่งเร้นลับภายในเป็นกำแพงขวางกั้นการเรียนรู้เติบโต
  3. ผู้นำกลุ่มองค์กรและกระบวนกรจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องอำนาจ และวิธีการใช้อำนาจในการบริหารและในการสร้างการเรียนรู้ ทั้งในแง่วิธีการใช้อำนาจที่ส่งเสริมและทำลายพลังความร่วมมือในพื้นที่การมีส่วนร่วมทุกชนิด   ดังนั้นทักษะการ Fa จะเข้ามามีบทบาทที่เหมาะสมกับการใช้อำนาจอย่างลงตัวได้อย่างไร
  4. สำรวจสืบค้นความหมายของ“กระบวนการเรียนรู้”เพื่อใช้เป็นบาทฐานในฝึกฝนของกระบวนกรเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ทรงพลัง
  5. สำรวจสืบค้นเหตุปัจจัยสำคัญที่ต้องสร้างสรรค์หรือต้องมีเพื่อทำให้การเรียนรู้มีพลังในการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนอย่างลึกซึ้งและหลายด้านหลายมิติของความเป็นมนุษย์
    • สภาวะภายใน ทักษะและทัศนคติเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จำเป็นของการเป็นกระบวนกร
    • การวางแผนออกแบบชุดการเรียนรู้ จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และสัมพันธ์กัน  อย่างไร
    • การเตรียมหรือสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเนื้อหา และผู้เรียน รวมถึงพื้นที่ปลอดภัยในกาเรียนรู้ หรืออาจจะเสี่ยงแต่ได้เรียนรู้
    • การเตรียมการเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายในการเปิดรับการเรียนรู้ รวมถึงการเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
    • การออกแบบกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงที่สัมพันธ์กับเนื้อหาที่เรียน
    • การสรุปบทเรียนที่เชื่อมโยงเป็นระบบ ง่ายต่อการเข้าใจเนื้อหาที่เรียน

เนื้อหาหลักสูตรที่ 3
การฝึกฝนทักษะพื้นฐานอย่างเป็นลำดับสำหรับกระบวนกร

  1. ความหมายและความสำคัญ ของทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการฟังอย่างลึกซึ้ง  รวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ฟังได้อย่างลึกซึ้ง  จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
  2. ความหมายและความสำคัญของทักษะการจับประเด็นในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการจับประเด็นรวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถจับประเด็นได้แม่นยำ   จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
  3. ความหมายและความสำคัญของทักษะการใช้วิธีคิดที่เป็นระบบ(หรือกระบวนการคิดที่เป็นระบบ)ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้วิธีคิดให้เป็นระบบ  รวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถใช้วิธีคิดที่เป็นระบบมาใช้ในการจัดการเรียนรู้  จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
  4. ความหมายและความสำคัญของทักษะการนำเสนอที่ตรงประเด็นเข้าใจง่ายในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอที่ตรงประเด็นเข้าใจง่าย  รวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถนำเสนอได้ตรงประเด็นเข้าใจง่าย  จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง

เนื้อหาหลักสูตรที่ 4
การออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และการสรุปบทเรียนอย่างเชื่อมโยงลงลึก

  1. ความหมายและความสำคัญของกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงในการจัดการเรียนรู้
  2. วิธีการออกแบบหรือสร้างสรรค์กิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่กระบวนกรจะนำสู่การเรียนรู้ จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนการออกแบบกิจกรรมด้วยการปฏิบัติจริง
  3. ความหมายและความสำคัญของการสรุปบทเรียนในการจัดการเรียนรู้
  4. หลักการและศิลปะในการสรุปบทเรียนให้เชื่อมโยงลงลึกและง่ายต่อการเข้าใจเข้าถึงบทเรียนที่เกิดขึ้นร่วมกันของผู้เรียน จากนั้นทุกท่านต้องฝึกฝนการสรุปบทเรียนด้วยการปฏิบัติจริง
  5. หลักการและศิลปะในการให้ข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะ(Feedback)ในการฝึกทำกระบวนการเรียนรู้

เนื้อหาหลักสูตรที่ 5
การจัดการเรียนรู้เพื่อสำรวจและเปลี่ยนแปลงโลกภายในของผู้เรียน

  1. ความเข้าใจโลกภายในของคนสำคัญอย่างไรต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงคนในหลากหลายด้าน
  2. เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ไม่สามารถลงลึกสู่พรมแดนของโลกภายในผู้เรียนได้
  3. ปัจจัยและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เข้าไปสืบค้นสำรวจโลกภายในเพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ลงลึก
  4. การออกแบบกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรง การสรุปบทเรียน และเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญอื่นๆ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงโลกภายใน
  5. ทุกท่านจะต้องฝึกฝนทำกระบวนการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง
  6. ทักษะเสริมอื่นๆที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้ เช่น การอ่านหรือประเมินกลุ่ม การแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้  เป็นต้น
  7. การออกแบบและวางแผนหลักสูตรการเรียนรู้

สถานที่

เรือนร้อยฉนำ (คลิกดูข้อมูลการเดินทาง)
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เลขที่ 666 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
สถานที่นี้ไม่มีบริการที่จอดรถ จึงขอความกรุณาทุกท่านเดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือหากต้องการเดินทางด้วยรถส่วนตัว ขอความกรุณาหาที่จอดรถเองนะคะ (หากจอดรถริมถนนบริเวณใกล้เรือนร้อยฉนำอาจถูกล็อคล้อได้) เสมสิกขาลัยต้องขออภัยในความไม่สะดวกนี้ด้วยค่ะ

หมายเหตุ

  • กระบวนการอบรมจัดให้นั่งพื้นเป็นวงกลมบนเบาะรองนั่ง การแต่งกายจึงควรเป็นกางเกง และหากท่านใดไม่สะดวกนั่งพื้น ขอความกรุณาแจ้งหมายเหตุในใบสมัคร เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเก้าอี้ไว้ล่วงหน้า
  • ห้องประชุมเป็นห้องแอร์ จึงอาจต้องเตรียมเสื้อกันหนาวมาด้วย

ค่าลงทะเบียน

ท่านละ 25,000 บาท (ไม่รวมค่าอาหารและที่พัก)

กรุณาตรวจสอบที่ว่างและกรอกใบสมัคร ก่อนเข้าร่วมการอบรม

Tel. 086-305-3011 , 099 453 8836
email: semsikkha_ram@yahoo.com
 facebook: semsikkha
line: @semsikkha

Copyright © 2024 เสมสิกขาลัย. All Rights Reserved. | Fotografie Blog by Catch Themes
YouTube
FbMessenger
Tiktok