การอบรมสำหรับบุคคลทั่วไป

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ : ชุดหลักสูตร

กระบวนกรเพื่อสร้างสรรค์การประชุมที่เน้นการมีส่วนร่วมในองค์กร

*** รับเฉพาะกระบวนกรที่เคยผ่านการเรียนชุดกระบวนกร เท่านั้น

ถึง เพื่อนกระบวนกรทุกรุ่น

สืบเนื่องจากมีเพื่อนกระบวนกรบางท่านที่เคยเรียนหลักสูตรกระบวนกรกับเสมได้ถามถึงหลักสูตรการ Fa ในการประชุมพูดคุยเพื่อแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังและเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมายาวนาน ทีมเสมได้ไตร่ตรองเห็นร่วมกันว่าจะเปิดหลักสูตรกระบวนกรเพื่อฝึกฝนการ Fa ในการประชุมพูดคุยเพื่อตอบโจทย์ทั้งสามด้านของปัญหาการพูดคุย (ดังมีรายละเอียดเนื้อหาของหลักสูตรด้านล่างนี้)

โดยชุดหลักสูตรนี้จะเปิดรับเฉพาะกระบวนกรที่เคยผ่านการเรียนชุดกระบวนกรมาแล้วเท่านั้น รับจำนวนไม่เกิน 36 ท่าน เสมฯจะไม่เปิดรับทั่วไปเพราะเป็นชุดหลักสูตรที่ต่อยอดจากที่เคยเรียนมา ซึ่งต้องอาศัยการมีทักษะพื้นฐานบางอย่างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทีมเสมฯจึงขอแจ้งข่าวนี้ถึงเพื่อนกระบวนกรทุกรุ่นให้ทราบโดยทั่วกัน อนึ่ง การเรียนรู้ชุดการอบรมนี้นอกจากจะเป็นการทบทวนทักษะสำคัญของการทำงานกระบวนการแล้ว ยังถือเป็นโอกาสเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของพี่น้องกระบวนกรจากหลากหลายรุ่น รายละเอียดของหลักสูตรและวันเวลามีดังต่อไปนี้

กำหนดการ

อบรมจํานวน 3 ครั้ง (ต่อเนื่อง) ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 จากความแตกต่างหลากหลายและความติดตันสู่การแสวงหาข้อตกลงร่วมอย่างสร้างสรรค์
    วันที่ 28-31 กรกฎาคม 2565

  • ครั้งที่ 2 การดำเนินการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังอย่างลงลึกและรอบด้าน
    วันที่ 8-11 กันยายน 2565

  • ครั้งที่ 3 การคลี่คลายความขัดแย้งด้วยใจกรุณา
    วันที่ 20-23 ตุลาคม 2565

เงื่อนไขการเข้าอบรม

เปิดรับเฉพาะกระบวนกรที่เคยผ่านการเรียนชุดกระบวนกร เท่านั้น

เนื้อหาการอบรม

หลักสูตรที่ 1
จากความแตกต่างหลากหลายและความติดตันสู่การแสวงหาข้อตกลงร่วมอย่างสร้างสรรค์

มนุษย์เราเมื่อต้องใช้ชีวิตเพื่อเป็นอยู่และทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับครอบครัว  หน่วยงานองค์กรไปจนถึงระดับสังคม  ล้วนจะต้องทำความรับรู้เข้าใจมุมมองความเห็นรวมถึงความต้องการของกันและกันเพื่อนำไปสู่การแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์และพอจะเป็นที่ยอมรับกันได้  บนความจริงที่ว่า เราแต่ละคนล้วนมีความเห็น มุมมอง บุคลิกภาพ ความต้องการและการให้ความสำคัญที่แตกต่างหลากหลาย   ดังนั้นในชีวิตประจำวันเอาเข้าจริงเรากลับพบว่า เป็นเรื่องที่แสนยากที่จะคุยกันตรงไปตรงมาให้รู้เรื่องว่า ตกลงเราจะเอาอย่างไรกันแน่ ท้ายสุดมักจบด้วยข้อสรุปที่ไม่เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย  และมีอารมณ์คั่งค้างกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความน่าเบื่อเมื่อเวลาต้องพูดคุยประสานงานกัน  และส่งผลต่องานในที่สุด  การอบรมชุดนี้จะมาทำความเข้าใจว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และจะมีวิถีทางทำอย่างไรได้บ้างในการแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน

  เนื้อหาการอบรม

  1. เพราะอะไรเราจึงคุยกันให้รู้เรื่องได้ยาก(เข้าใจและหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ยาก)
    • สืบค้นสิ่งเร้นลับภายในของคนที่เป็นกับดักทำให้เรามักเชื่อว่า เราถูก คนอื่นผิด (คนอื่นต้องฟังและต้องปรับตามเรา)
    • เหตุผล หลักการ รวมถึงความคิดความเชื่อต่างๆที่เราชอบอ้างถึงเพื่อความถูกต้องสมเหตุสมผลในการตัดสินใจใดๆนั้น “อาจจะ” ถูกประดิษฐ์สร้างเพื่อรับใช้สิ่งเร้นลับที่อยู่ลึกภายใน มากกว่าจะถูกใช้เพื่ออธิบายความจริงหรือความเหมาะสมตามเนื้อผ้าของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ
    • เงื่อนไข โครงสร้าง วัฒนธรรม สถานภาพที่เป็นลำดับชั้นหรือตำแหน่งแห่งที่เราต่างยึดติดสำคัญมั่นหมายทั้งในระดับครอบครัว องค์กรและสังคม
    • ข้อจำกัดในการรับรู้ความเป็นจริงของทุกฝ่าย ซึ่งนำไปสู่มุมมอง ความคิดความเชื่ออันผิดพลาดและคับแคบ
    • คำพูด วิธีการสื่อสาร รวมถึงท่าทีที่กระตุกกระตุ้นให้อีกฝ่ายประทุอารมณ์จนปิดกั้นการรับฟัง
    • การขาดทักษะสำคัญในการสร้างพื้นที่พูดคุยที่นำไปสู่ข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันได้
    • อุปสรรคหรือข้อจำกัดอื่นอันน่าปวดหัวที่ล้อมกรอบชวนให้บรรยากาศการประชุมพูดคุยที่สร้างสรรค์ถูกทำลายลง
  2. วิธีการรับมือกับเหตุปัจจัยที่กล่าวถึงใน ข้อ1.
  3. ทักษะสำคัญและการผสมผสานทักษะต่างๆในการดำเนินการประชุมพูดคุย
  4. ฝึกฝนการดำเนินการประชุมพูดคุยจริง และสรุปบทเรียนจากการฝึกฝน

หลักสูตรที่ 2
การดำเนินการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังอย่างลงลึกและรอบด้าน

ฝึกฝนการดำเนินการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากจำเจจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยจะมุ่งเน้นผลลัพธ์ไปสู่การหาทางออกจากปัญหาอย่างยั่นยืนที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน

  เนื้อหาการอบรม

  1. เพราะอะไรการประชุมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาหน่วยงานหรือองค์กรจึงมักไม่ประสบผลสำเร็จ มีแนวโน้มยืดเยื้อ วกวน ได้ข้อสรุปไม่ชัดเจนหรือไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
    • การติดกับดักของการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นที่ไม่ครบถ้วน ไม่ลงลึกรอบด้าน การให้ข้อมูลที่พร่ามัวหรือย้อนแย้งไม่ตรงกัน
    • การขาดทักษะในการดำเนินการประชุมเพื่อนำไปสู่ การวางขอบเขตของปัญหาที่ชัดเจน การสำรวจสืบค้นสาเหตุอันเชื่อมโยงลงไปสู่สาเหตุระดับรากเหง้า การวางขอบเขตที่ชัดเจนของผลลัพธ์ของการแก้ไขปัญหา การหาทางออกจากปัญหาอย่างสร้างสรรค์และสอดคล้องสัมพันธ์กับสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงขาดทักษะการสรุปประเด็นแลกเปลี่ยนที่คมชัด ขาดทักษะการตั้งคำถามกลุ่มเพื่อสืบค้นลงลึกและรอบด้าน การทักษะการจัดวางประเด็นการแลกเปลี่ยนอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบ ขาดทักษะการบันทึกข้อมูลและข้อสรุปอย่างชัดเจนเป็นระบบเพื่อใช้อ้างอิงในการประชุม และขาดทักษะการจัดการอารมณ์ที่ประทุขึ้นจากความเห็นที่ขัดแย้งกัน เป็นต้น
    • อุปสรรคและข้อจำกัดอื่นที่ลดทอนประสิทธิภาพและบรรยากาศการประชุมที่สร้างสรรค์ ซึ่งมักนำไปสู่ความอึดอัด ไม่ปลอดภัยและน่าเบื่อที่ต้องประชุมร่วมกัน
  2. หลักการสำคัญและศิลปะในการประชุมพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดและวางขอบเขตของปัญหา การสำรวจสืบค้นสาเหตุที่ลงลึกและรอบด้าน การวางผลลัพธ์ที่ต้องการร่วมกัน การแสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์
  3. การฝึกฝนทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการดำเนินการประชุม(อ้างอิงสัมพันธ์กับการขาดทักษะต่างๆที่กล่าวถึงใน ข้อ1.

หลักสูตรที่ 3
การคลี่คลายความขัดแย้งด้วยใจกรุณา

ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มคนภายในองค์กร  รวมไปถึงในครอบครัว ที่สำคัญคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่เราไม่สามารถจะคลี่คลายหรือหาวิธีการจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หรือไม่ก็กลัวและหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งเหล่านั้น นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งลุกลามและหมักหมมจนยากที่จะแก้ไขเยียวยา

การอบรม “คลี่คลายความขัดแย้งด้วยใจกรุณา” จะทำให้เรามองความขัดแย้งได้รอบด้านมากขึ้น พร้อมทั้งแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่การเรียนรู้และเติบโตภายใน  พร้อมทั้งสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่มักนำไปสู่ความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  เนื้อหาการอบรม

  1. ความหมายของความขัดแย้ง ความขัดแย้งทำงานอย่างไร  ส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้คน งาน และความสัมพันธ์ในกลุ่มองค์กร
  2. เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและการให้อาหารหล่อเลี้ยงความขัดแย้งให้มีความเข้มข้นรุนแรงและขยายวงลุกลาม (วิเคราะห์ทั้งปัจจัยภายในของคน และปัจจัยภายนอกที่รายล้อมกลุ่มคนให้ขัดแย้งกันได้ง่ายและฝังเป็นรากลึก ซึ่งยากที่จะบรรเทาเยียวยาให้ดีขึ้น)
  3. ความเข้าใจเรื่องตัวตน(อัตตา)ในฐานะเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งแตกแยกกัน
  4. การจัดการความขัดแย้งด้วยอำนาจเหนือและความรุนแรง และการจัดการความขัดแย้งด้วยการหลีกเลี่ยงกลบเกลื่อนความขัดแย้งนำไปสู่การขยายตัวของความขัดแย้งได้อย่างไร
  5. หลักการและทัศนคติสำคัญที่ควรวางให้ถูกต้องเหมาะสมต่อความขัดแย้ง
  6. ศาสตร์และศิลป์ในการคลี่คลายความขัดแย้งในแนวทางสันติวิธีและการใช้อำนาจร่วม
    • รูปแบบต่างๆของแนวทางสันติวิธีในการคลี่คลายความขัดแย้ง
    • รายละเอียดหลักการสำคัญของกระบวนการเจรจากลุ่มที่มีความขัดแย้งเรื้อรังมานาน
    • รายละเอียดหลักการสำคัญของการทำหน้าที่ของกระบวนกรในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง
    • การฝึกฝนทักษะสำคัญของกระบวนกรเพื่องานไกล่เกลี่ย

กระบวนการอบรม

ใช้กิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมหรือเกมเพื่อการเรียนรู้  ละครสั้น บทบาทสมมุติ  การบรรยายเฉพาะเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญ  การพูดคุยกลุ่มย่อย  การรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องบทเรียนต่างๆ

สถานที่

เรือนร้อยฉนำ (คลิกดูข้อมูลการเดินทาง)
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เลขที่ 666 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
สถานที่นี้ไม่มีบริการที่จอดรถ จึงขอความกรุณาทุกท่านเดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือหากต้องการเดินทางด้วยรถส่วนตัว ขอความกรุณาหาที่จอดรถเองนะคะ (หากจอดรถริมถนนบริเวณใกล้เรือนร้อยฉนำอาจถูกล็อคล้อได้) เสมสิกขาลัยต้องขออภัยในความไม่สะดวกนี้ด้วยค่ะ

หมายเหตุ

  • กระบวนการอบรมจัดให้นั่งพื้นเป็นวงกลมบนเบาะรองนั่ง การแต่งกายจึงควรเป็นกางเกง และหากท่านใดไม่สะดวกนั่งพื้น ขอความกรุณาแจ้งหมายเหตุในใบสมัคร เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเก้าอี้ไว้ล่วงหน้า
  • ห้องประชุมเป็นห้องแอร์ จึงอาจต้องเตรียมเสื้อกันหนาวมาด้วย

ค่าลงทะเบียน

ท่านละ 15,000 บาท (ไม่รวมค่าอาหารและที่พัก)
รับจำนวน 36 ท่าน 

กรุณาตรวจสอบที่ว่างและกรอกใบสมัคร ก่อนเข้าร่วมการอบรม


ผู้ประสานงาน คุณพูลฉวี เรืองวิชาธร  มือถือ 086-327-7792 หรือ 089-499-0490 

E-mail: semsikkha_ram@yahoo.com หรือ poolchawee@gmail.com

Copyright © 2024 เสมสิกขาลัย. All Rights Reserved. | Fotografie Blog by Catch Themes
YouTube
FbMessenger
Tiktok