ฟังได้ศัพท์ จับได้ความ สื่อสารเข้าใจถึงแก่นจุดประสงค์ความต้องการอย่างชัดเจนเป็นยังไง

Posted on

ผู้เขียน ชนาธิป (จอย)
https://www.facebook.com/enjoythinkingth

วันก่อนไปเรียนคอร์สทักษะการจับประเด็น ตอนแรกก็คิดว่าคนเราก็น่าจะจับประเด็นได้เป็นปกติอยู่แล้วไหม แต่พอเรียนแล้วเพิ่งรู้ว่า คนเราสื่อสารกันแบบ พูดว่าจระเข้ ฟังเป็นม้า เยอะเลยนะ แล้วมันเป็น blind spot ที่เราไม่รู้ตัวเองด้วย ว่าเราพูดไม่รู้เรื่อง และฟังไม่ได้ใจความ ทำให้ไม่เกิดการเข้าใจกันระหว่างสองฝ่ายหรือหลายๆ ฝ่ายก็ตาม

การสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น คำพูด ภาพยนต์ บทความ พอตแคส และอื่นๆ คนที่เป็นฝั่งส่งสาร ทั้งคนพูด คนเขียน คนแสดง มักมีประเด็นที่เป็นใจความสำคัญบางอย่างที่อยากจะสื่อออกมาเสมอ แต่ก็ใช่ว่าคนรับสารที่เป็น ผู้ฟัง ผู้ดู ผู้อ่าน จะได้รับรู้ถึงแก่นแท้ของจุดประสงค์ของผู้ส่งสารจริงๆ เสมอไป อาจจะรับได้แค่บางส่วน ครึ่งเดียว หรือผิดประเด็นไปเลยก็มี

สิ่งที่ทำให้เกิดการบิดเบือนของการรับสาร เช่น ความลำเอียงในใจต่อเนื้อความ วัฒนธรรม ทัศนคติ อุดมการณ์ ภาษา ความรู้ ความเชื่อ ของผู้รับสาร

คนเรามักตัดสินตีความเรื่องที่ฟัง ที่ดู ที่อ่าน ไปตามความสนใจและประสบการณ์ของตัวเองซะส่วนใหญ่ เราเลยไม่ได้แก่นประเด็นตามที่คนพูด คนเขียน คนวาด ตั้งใจจะสื่อออกมาจริงๆ เท่าไหร่ และบางทีเราก็แสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาก่อนที่เค้าจะพูดจบด้วยซ้ำ นั่นเลยเป็นที่มาของ การฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด และเราก็เลยได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อความที่เกิดจากการเล่าเรื่องต่อๆ กันไปเรื่อย เดี๋ยวคนนั้นเติมนู้น เดี๋ยวคนนี้ตัดนี่ เนื้อเรื่องเลยบิดเบี้ยว จนบางครั้งประเด็นหลักจริงๆ หายไปเลยก็มี และบางครั้งแม้แต่ผู้ส่งสารเองก็งงกับตัวเองว่าจะสื่อสารอะไรออกมาจริงๆ ทำให้กลายเป็นการพูดไม่รู้เรื่อง พูดวนไปวนมา พูดน้ำเยอะเนื้อไม่มี

สิ่งสำคัญในการสื่อสารให้รู้เรื่องเข้าใจแก่นแท้ของสารคือ การจับประเด็น ซึ่งการจับประเด็นในที่นี้หมายถึงการทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้ส่งสารสื่อออกมาอย่างแท้จริง โดยปราศจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ บิดเบือนข้อมูลหลัก เช่น ทัศนคติ กรอบวัฒนธรรม การตัดสินของผู้ฟัง ความเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ซึ่งการจับประเด็นจะมีทั้งจับตัวผู้ส่งสาร จับประเด็นตัวสาร จับตัวสารจับความสัมพันธ์ จับสถานการณ์ และจับตัวผู้รับสารเอง

การจับประเด็นที่เราเรียนในคอร์สนี้ คือ การจับประเด็นตัวสาร ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ “สาร” คำพูด ตัวอักษร ที่สื่อออกมาเท่านั้น ไม่สนใจผู้ส่งสาร สถานการณ์อื่นๆ อารมณ์ความรู้สึก การจับประเด็นจากตัวสารจะมีหลักฐานชัดเจน ยืนยัน และอ้างอิงได้ และ ในเนื้อ “สาร” จะมีหลายประเด็น แบ่งออกเป็น ประเด็นหลัก (สิ่งที่ผู้ส่งสารอยากสื่อมากที่สุด) ประเด็นรอง (เหตุผลสนับสนุนประเด็นหลัก) ประเด็นที่น่าสนใจ (ประเด็นที่ผู้รับสารมีความสนใจส่วนตัว) ซึ่งทักษะการจับประเด็นในคอร์สนี้จะเน้นไปที่การหาประเด็นหลัก

การหา “ประเด็นหลัก” ของสาร เริ่มจากการหา Keyword ซึ่งคือคำที่มีความหมายครอบคลุมเหตุการณ์ พฤติกรรมของตัวละครในสารอย่างชัดเจน ไม่กว้างและแคบเเกินไป มีน้ำหนัก ขอบเขต ที่พอเหมาะพอดี เป็นคำที่ให้ความหมายตรงกับสิ่งที่สารต้องการสื่อออกมาจริงๆ เพราะบางคำที่ความหมายที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่สามารถแทนที่กันได้ ประหนึ่งว่าได้ทบทวนความหมายของคำในภาษาไทยใหม่อีกครั้ง

การใช้ Keyword ผิด ทำให้ความหมายของแก่นแท้ของเนื้อความเปลี่ยนไปได้ เช่น

การให้ : เรามีของเรา เราเอาของของเราให้คนอื่น จะให้บางส่วนหรือให้ทั้งหมดก็ได้

การแบ่งปัน : เรามีของเรา แล้วเราแบ่งของของเราบางส่วนให้กับผู้อื่น (ไม่ได้ให้ทั้งหมด)

การช่วยเหลือ : เราทำให้ผู้อื่นดีขึ้น โดยของของเราลดลงหรือไม่ต้องลดลงก็ได้

ตัวช่วยในการเลือก Keyword คือ

คำมีน้ำหนัก : บ่งบอกความลึกของความหมาย เช่น ปลื้ม < ชอบ < รัก < หลงใหล < คลั่งไคล้ < ตายแทนได้

คำมีขอบเขต : ความกว้างและแคบของคำที่ใช้ในบริบทต่างๆ บางคำใช้กับคน บางคำใช้กับสิ่งของ เช่น เชื่อฟัง (ใช้กับคน), เชื่อง (ใช้กับสัตว์)

คำมีอคติ : คำที่ทำให้เข้าใจผิดในตัว คำดูถูก คำเหยียด เช่น คนบ้า (คนไร้บ้าน)

คำมีระดับชั้น : ความสุภาพและความจริงจังของการใช้คำ เช่น สุขา (ส้วม), ขอประทานอภัย (ขอโทษ), สักการะ (บูชา)

คำมีอายุ : คำตามยุคสมัย เช่น ชิวๆ (สบายๆ), จ๊าบ (เท่), พิศวาส (คลั่งรัก)

คำมีการเมือง : คำที่มีความหมายไม่ตรงคำนิยามปกติทั่วไป เป้นคำประดิษฐ์เพื่อใช้ในบริบททางการเมืองเท่านั้น เช่น เงินทอน (เงินคอรัปชั่น), ใต้โต๊ะ (การแอบทำสิ่งผิดกฎหมาย), เสื้อแดง (พรรคการเมืองหนึ่ง), เสื้อเหลือง (พรรคการเมืองอีกแห่งหนึ่ง)

การเลือกใช้คำเชื่อม :

และ  : A & B คือเอาทั้งคู่ ทั้ง A และ B

หรือ : A or B คือเอา A หรือ เอา B อย่างใดอย่างหนึ่ง

ทำให้ : A -> B คือ A เป็นเหตุ ทำให้เกิด B เป็นผล

คือ : A = B คือ A มีความหมายเดียวกันกับ B สามารถใช้แทนกันได้

ไม่ใช่ : A ≠ B คือ ความหมายของ A เป็นคนละความหมายของ B ไม่สามารถใช้แทนกันได้

เป็นส่วนหนึ่ง : A ⊆ B คือทั้งหมดของ A อยู่ใน B

เมื่อได้ Keyword แล้วก็นำมาเชื่อมโยงร้อยเรียงกันจนเป็นประโยคประเด็นสำคัญของสารนั้นๆ ซึ่งประโยคนั้นจะต้องมีความหมายครอบคลุมใจความสำคัญของเนื้อเรื่องทั้งหมดได้อย่างชัดเจนด้วย

สิ่งสำคัญที่เราได้จากการเรียนคอร์สนี้คือ

เทคนิคการแยกแยะประเด็นสำคัญออกจากเนื้อความที่เป็นองค์ประกอบของการสื่อสาร จากทฤษฎีเม็ดมะม่วง ซึ่งทำให้เราคัดสิ่งไม่จำเป็น (เปลือก+เนื้อมะม่วง+คนขายมะม่วง) ออกจากแก่นประเด็นสำคัญ (เม็ดมะม่วง) ได้ง่ายขึ้น จึงไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการใช้สมาธิกับสิ่งไม่สำคัญ focus เฉพาะประเด็นหลักก็พอ

ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อขจัดความขัดแย้ง CLARA ซึ่งประกอบด้วย Center ตั้งแกนสติสมาธิตัวเอง -> Listen รับฟังเพื่อจุดประสงค์สามอย่าง -> Affirm ยืนยันรับรู้ -> Response ทบทวนทำความเข้าใจ -> Add เติมข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น

เทคนิคการเลือกใช้ Keyword เพื่อการจับประเด็นหลัก ที่กล่าวไป

ในคอร์สจะมีการเรียนรู้เชิงทฤษฎี มีตัวอย่างเคสจริง และกิจกรรมแบบฝึกหัดที่ให้ได้ทดลองทำ เพื่อความเข้าใจในการใช้เทคนิคต่างๆ ด้วย ทำให้เราเห็นจุดที่มีโอกาสที่จะผิดพลาดบ่อยที่เป็น blind spot ในตัวเอง เพื่อระมัดระวังตัวเองได้ และเห็นวิธีการนำทฤษฎีต่างๆ ที่เรียนไปใช้ในความเป็นจริงได้

กระบวนการตลอดสองวันถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าถึงแก่นของทฤษฎีที่เป็นนามธรรมด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจนมากๆ เราเรียนแล้วรู้สึกสนุกและเข้าใจในบทเรียนง่ายมากๆ การมานั่งเรียนในคลาสแบบนี้ทำให้เห็นมุมมองของเพื่อนๆ ในคลาสที่แตกต่างและหลากหลาย ทำให้เราได้เข้าใจรูปแบบของวิธีการสื่อสารต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้นด้วย

คอร์สนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจถึงแก่นแท้ของเนื้อความ โดยปราศจากการตัดสินตีความ ซึ่งจะทำให้ผู้รับสารได้รับสารที่ตรงกับประเด็นหลักที่ผู้ส่งสารต้องการ ทำให้สื่อสารอย่างชัดเจน เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่างๆ ไม่ว่าจะมีผู้ส่งสารและผู้รับสารกี่คน ก็จะช่วยให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น และไม่ว่าคุณจะอยู่ในจุดของผู้ส่งสารหรือผู้รับสาร คุณก็จะมีทักษะการจับประเด็นของการสื่อสารเพิ่มขึ้นแน่นอน ไม่ว่าจะต้องสื่อสารกับใครคุณก็จะกลายเป็นคนที่เข้าใจเนื้อความได้อย่างตรงประเด็นมากขึ้น และคุณก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นด้วย เพราะการสื่อสารเป็นรากฐานของความสัมพันธ์

ใครสนใจการจับประเด็นแบบนี้ เราแนะนำไปลงเรียนคอร์สทักษะการจับประเด็น โดยอาจารย์กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ที่สถาบันเสมสิกขาลัย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป https://semsikkha.org/ หรือถ้าอยากเข้าใจเนื้อหาก่อนไปลงเรียน ไปอ่านสรุปได้ที่เพจเฟสบุ๊ค @EnjoyThinking ในโพสนี้ bit.ly/ETarticle8 น้า