หลักสูตรการอบรมสำหรับ Public และ In-house

กระบวนกรเพื่อสร้างสรรค์การประชุมที่เน้นการมีส่วนร่วมในองค์กร

Public ☎︎ 086-305-3011
In-house ☎︎ 086-327-7792 , 089-499-0490

ในชีวิตการทำงาน คงหนีไม่พ้นการประชุม และบ่อยครั้ง ที่การประชุมเต็มด้วยความอึดอัด น่าเบื่อ เยิ่นเย้อ หาข้อสรุป-มติไม่ได้ บางครั้งมีผู้พูดคุย ตัดสินใจแค่เพียงบางคน เรียกได้ว่า ไม่ได้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทำให้หลายๆครั้งเช่นกันเมื่อได้บทสรุปจากที่ประชุมแล้วแต่ไม่ได้นำกลับไปปฏิบัติอย่างแท้จริง

เสมสิกขาลัย จึงจัดชุดการอบรม “กระบวนกรเพื่อสร้างสรรค์การประชุมที่เน้นการมีส่วนร่วมในองค์กร” เพื่อสร้างบุคลากรที่สามารถเป็นผู้นำในการจัดการประชุมแสวงหาข้อตกลงร่วมอย่างสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเรื้อรังอย่างลงลึกและรอบด้าน ประเมินผลการทำงาน สรุปบทเรียนอย่างมีส่วนร่วม ทั้งในครอบครัว องค์กร และชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างแท้จริง

การอบรมนี้เหมาะสำหรับบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ที่สนใจกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง และสังคม การทำงานเป็นเครือข่าย และต้องการพัฒนาทีมบุคคลากรให้สามารถสร้างสรรค์การประชุมที่เน้นการมีส่วนร่วมได้

วัตถุประสงค์ของการอบรม

  1. สร้างให้เกิดทีมกระบวนกรที่สามารถสร้างสรรค์การประชุมที่เน้นการมีส่วนร่วมในองค์กร
  2. สร้างให้เกิดกระบวนกรที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำในการจัดการประชุมแสวงหาข้อตกลงร่วมอย่างสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเรื้อรังอย่างลงลึกและรอบด้าน ทั้งในครอบครัว องค์กร และชุมชน

เนื้อหาการอบรม

หลักสูตรนี้ประกอบด้วยการอบรม 5 ครั้ง (ระยะเวลาอบรมทั้งหมด 18 วัน) ได้แก่

  1. ครั้งที่ 1 สร้างสรรค์ความสัมพันธ์เพื่อรากฐานของพื้นที่การเรียนรู้ที่ทรงพลัง (3 วัน)
  2. ครั้งที่ 2 ภาวะผู้นำในความเป็นกระบวนกร (3 วัน)
  3. ครั้งที่ 3 การฝึกฝนทักษะพื้นฐานอย่างเป็นลำดับสำหรับกระบวนกร (4 วัน)
  4. ครั้งที่ 4 จากความแตกต่างหลากหลายและความติดตันสู่การแสวงหาข้อตกลงร่วมอย่างสร้างสรรค์ (4 วัน)
  5. ครั้งที่ 5 การดำเนินการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังอย่างลงลึกและรอบด้าน (4 วัน)
ครั้งที่ 1
สร้างสรรค์ความสัมพันธ์เพื่อรากฐานของพื้นที่การเรียนรู้ที่ทรงพลัง
  1. “การจัดกระบวนการเพื่อเอื้ออำนวยให้ง่าย”(Facilitate ตัวย่อ = Fa) นั้นสำคัญอย่างไรต่อการจัดการเรียนรู้ที่ทรงพลังต่อการประชุมพูดคุยร่วมกันในกิจการงาน ในทุกเป้าประสงค์ของกลุ่มองค์กร รวมถึงสำคัญอย่างไรต่อการแสวงหาความร่วมมือของกลุ่มองค์กร
  2. บทบาทหน้าที่ของ “กระบวนกร” (Facilitator)ในมุมกว้างสามารถทำอะไรได้บ้าง ในการการเป็นอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว กลุ่มองค์กรและในระดับสังคม
  3. การสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นรากฐานในการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กรและสังคม ทั้งในแง่พื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน  พื้นที่ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มาจากความแตกต่างหลากหลาย และพื้นที่การหล่อหลอมพลังร่วมเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างไหลลื่น
  4. เราจะทำการสืบค้นสำรวจถึงสาเหตุอย่างลงลึกและรอบด้านว่าเพราะอะไรการเป็นอยู่ร่วมกันและการทำงานร่วมกันในเวลาที่เนิ่นนานขึ้น จึงมีแนวโน้มทำให้คนมีความสุขน้อยลง  ความสัมพันธ์แย่ลง ซึ่งมักนำไปสู่ผลงานที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ
  5. ทางออกสำคัญเพื่อทำให้การเป็นอยู่และการทำงานร่วมกันมีทิศทางที่ดีขึ้น ศึกษาบทบาทหน้าที่ของกระบวนกรในการสนับสนุนภารกิจนี้ว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์ที่กลุ่มองค์กรกำลังย่ำแย่
  6. เหตุใดการเป็นอยู่และการทำงานร่วมกัน ตลอดจนการเรียนรู้ร่วมกันจึงมีแนวโน้มทำให้เกิดความรู้สึกเสี่ยงไม่ปลอดภัย ในการจัดกระบวนการต่างๆ ในการทำงานหรือในการเรียนรู้ กระบวนกรจะเผชิญหน้าและรับมือกับความรู้สึกเสี่ยงไม่ปลอดภัยจนสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มคนได้อย่างไร
ครั้งที่ 2
ภาวะผู้นำในความเป็นกระบวนกร
  1. เหตุใดการบริหารหรือการนำกลุ่มองค์กรของผู้นำจึงมีแนวโน้มสร้างความอึดอัดขัดเคืองจากลูกน้อง ไม่สามารถหล่อหลอมพลังร่วมให้ขับเคลื่อนงานได้อย่างมีพลัง และการเข้าถึงหัวใจของการ Fa รวมถึงการมีทักษะต่างๆในการ Fa ของผู้นำสำคัญอย่างไรในการขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างมีพลัง  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้นำกลุ่มองค์กรจำเป็นต้องมีทักษะของกระบวนกร
  2. เหตุใดครูหรือวิทยากรที่สร้างการเรียนรู้ให้คนจึงจำเป็นต้องมีภาวะผู้นำที่ลุ่มลึก ในขณะที่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากซับซ้อนในการจัดการเรียนรู้กับผู้เรียนที่แตกต่างหลากหลาย  และมีสิ่งเร้นลับภายในเป็นกำแพงขวางกั้นการเรียนรู้เติบโต
  3. ผู้นำกลุ่มองค์กรและกระบวนกรจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องอำนาจ และวิธีการใช้อำนาจในการบริหารและในการสร้างการเรียนรู้ ทั้งในแง่วิธีการใช้อำนาจที่ส่งเสริมและทำลายพลังความร่วมมือในพื้นที่การมีส่วนร่วมทุกชนิด   ดังนั้นทักษะการ Fa จะเข้ามามีบทบาทที่เหมาะสมกับการใช้อำนาจอย่างลงตัวได้อย่างไร
  4. สำรวจสืบค้นความหมายของ“กระบวนการเรียนรู้”เพื่อใช้เป็นบาทฐานในฝึกฝนของกระบวนกรเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ทรงพลัง
  5. สำรวจสืบค้นเหตุปัจจัยสำคัญที่ต้องสร้างสรรค์หรือต้องมีเพื่อทำให้การเรียนรู้มีพลังในการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนอย่างลึกซึ้งและหลายด้านหลายมิติของความเป็นมนุษย์
    • สภาวะภายใน ทักษะและทัศนคติเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จำเป็นของการเป็นกระบวนกร
    • การวางแผนออกแบบชุดการเรียนรู้ จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และสัมพันธ์กัน  อย่างไร
    • การเตรียมหรือสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเนื้อหา และผู้เรียน รวมถึงพื้นที่ปลอดภัยในกาเรียนรู้ หรืออาจจะเสี่ยงแต่ได้เรียนรู้
    • การเตรียมการเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายในการเปิดรับการเรียนรู้ รวมถึงการเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
    • การออกแบบกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงที่สัมพันธ์กับเนื้อหาที่เรียน
    • การสรุปบทเรียนที่เชื่อมโยงเป็นระบบ ง่ายต่อการเข้าใจเนื้อหาที่เรียน 
ครั้งที่ 3
การฝึกฝนทักษะพื้นฐานอย่างเป็นลำดับสำหรับกระบวนกร
  1. ความหมายและความสำคัญ ของทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการฟังอย่างลึกซึ้ง รวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ฟังได้อย่างลึกซึ้ง จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
  2. ความหมายและความสำคัญของทักษะการจับประเด็นในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการจับประเด็นรวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถจับประเด็นได้แม่นยำ จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
  3. ความหมายและความสำคัญของทักษะการใช้วิธีคิดที่เป็นระบบ(หรือกระบวนการคิดที่เป็นระบบ)ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้วิธีคิดให้เป็นระบบ รวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถใช้วิธีคิดที่เป็นระบบมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
  4. ความหมายและความสำคัญของทักษะการนำเสนอที่ตรงประเด็นเข้าใจง่ายในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอที่ตรงประเด็นเข้าใจง่าย รวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถนำเสนอได้ตรงประเด็นเข้าใจง่าย จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
  5. ความหมายและความสำคัญของทักษะการตั้งคำถามอย่างเชื่อมโยงลงลึกในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนกรควรเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งคำถามอย่างเชื่อมโยงลงลึก รวมถึงเข้าใจถึงวิธีการและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถตั้งคำถามได้อย่างเชื่อมโยงลงลึก จากนั้นทุกท่านจะต้องฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริง
ครั้งที่ 4
จากความแตกต่างหลากหลายและความติดตันสู่การแสวงหาข้อตกลงร่วมอย่างสร้างสรรค์
มนุษย์เราเมื่อต้องใช้ชีวิตเพื่อเป็นอยู่และทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับครอบครัว หน่วยงานองค์กรไปจนถึงระดับสังคม ล้วนจะต้องทำความรับรู้เข้าใจมุมมองความเห็นรวมถึงความต้องการของกันและกันเพื่อนำไปสู่การแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน อย่างสร้างสรรค์และพอจะเป็นที่ยอมรับกันได้ บนความจริงที่ว่า เราแต่ละคนล้วนมีความเห็น มุมมอง บุคลิกภาพ ความต้องการและการให้ความสำคัญที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นในชีวิตประจำวันเอาเข้าจริงเรากลับพบว่า เป็นเรื่องที่แสนยากที่จะคุยกันตรงไปตรงมาให้รู้เรื่องว่า ตกลงเราจะเอาอย่างไรกันแน่ท้ายสุดมักจบด้วยข้อสรุปที่ไม่เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย และมีอารมณ์คั่งค้างกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความน่าเบื่อเมื่อเวลาต้องพูดคุยประสานงานกัน และส่งผลต่องานในที่สุด การอบรมชุดนี้จะมาทำความเข้าใจว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และจะมีวิถีทางทำอย่างไรได้บ้างในการแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน
  1. เพราะอะไรเราจึงคุยกันให้รู้เรื่องได้ยาก(เข้าใจและหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ยาก)
    • สืบค้นสิ่งเร้นลับภายในของคนที่เป็นกับดักทำให้เรามักเชื่อว่า เราถูก คนอื่นผิด (คนอื่นต้องฟังและต้องปรับตามเรา)
    • เหตุผล หลักการ รวมถึงความคิดความเชื่อต่างๆที่เราชอบอ้างถึงเพื่อความถูกต้องสมเหตุสมผลในการตัดสินใจใดๆนั้น “อาจจะ” ถูกประดิษฐ์สร้างเพื่อรับใช้สิ่งเร้นลับที่อยู่ลึกภายใน มากกว่าจะถูกใช้เพื่ออธิบายความจริงหรือความเหมาะสมตามเนื้อผ้าของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ
    • เงื่อนไข โครงสร้าง วัฒนธรรม สถานภาพที่เป็นลำดับชั้นหรือตำแหน่งแห่งที่เราต่างยึดติดสำคัญมั่นหมายทั้งในระดับครอบครัว องค์กรและสังคม
    • ข้อจำกัดในการรับรู้ความเป็นจริงของทุกฝ่าย ซึ่งนำไปสู่มุมมอง ความคิดความเชื่ออันผิดพลาดและคับแคบ
    • คำพูด วิธีการสื่อสาร รวมถึงท่าทีที่กระตุกกระตุ้นให้อีกฝ่ายประทุอารมณ์จนปิดกั้นการรับฟัง
    • การขาดทักษะสำคัญในการสร้างพื้นที่พูดคุยที่นำไปสู่ข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันได้
    • อุปสรรคหรือข้อจำกัดอื่นอันน่าปวดหัวที่ล้อมกรอบชวนให้บรรยากาศการประชุมพูดคุยที่สร้างสรรค์ถูกทำลายลง
  1. วิธีการรับมือกับเหตุปัจจัยที่กล่าวถึงใน ข้อ1.
  2. ทักษะสำคัญและการผสมผสานทักษะต่างๆในการดำเนินการประชุมพูดคุย
  3. ฝึกฝนการดำเนินการประชุมพูดคุยจริง และสรุปบทเรียนจากการฝึกฝน
ครั้งที่ 5
การดำเนินการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังอย่างลงลึกและรอบด้าน
ฝึกฝนการดำเนินการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากจำเจจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยจะมุ่งเน้นผลลัพธ์ไปสู่การหาทางออกจากปัญหาอย่างยั่นยืนที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน
  1. เพราะอะไรการประชุมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาหน่วยงานหรือองค์กรจึงมักไม่ประสบผลสำเร็จ มีแนวโน้มยืดเยื้อ วกวน ได้ข้อสรุปไม่ชัดเจนหรือไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
    • การติดกับดักของการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นที่ไม่ครบถ้วน ไม่ลงลึกรอบด้าน การให้ข้อมูลที่พร่ามัวหรือย้อนแย้งไม่ตรงกัน
    • การขาดทักษะในการดำเนินการประชุมเพื่อนำไปสู่ การวางขอบเขตของปัญหาที่ชัดเจน การสำรวจสืบค้นสาเหตุอันเชื่อมโยงลงไปสู่สาเหตุระดับรากเหง้า การวางขอบเขตที่ชัดเจนของผลลัพธ์ของการแก้ไขปัญหา การหาทางออกจากปัญหาอย่างสร้างสรรค์และสอดคล้องสัมพันธ์กับสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงขาดทักษะการสรุปประเด็นแลกเปลี่ยนที่คมชัด ขาดทักษะการตั้งคำถามกลุ่มเพื่อสืบค้นลงลึกและรอบด้าน การทักษะการจัดวางประเด็นการแลกเปลี่ยนอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบ ขาดทักษะการบันทึกข้อมูลและข้อสรุปอย่างชัดเจนเป็นระบบเพื่อใช้อ้างอิงในการประชุม และขาดทักษะการจัดการอารมณ์ที่ประทุขึ้นจากความเห็นที่ขัดแย้งกัน เป็นต้น
    • อุปสรรคและข้อจำกัดอื่นที่ลดทอนประสิทธิภาพและบรรยากาศการประชุมที่สร้างสรรค์ ซึ่งมักนำไปสู่ความอึดอัด ไม่ปลอดภัยและน่าเบื่อที่ต้องประชุมร่วมกัน
  1. หลักการสำคัญและศิลปะในการประชุมพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดและวางขอบเขตของปัญหา การสำรวจสืบค้นสาเหตุที่ลงลึกและรอบด้าน การวางผลลัพธ์ที่ต้องการร่วมกัน การแสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์
  2. การฝึกฝนทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการดำเนินการประชุม(อ้างอิงสัมพันธ์กับการขาดทักษะต่างๆที่กล่าวถึงใน ข้อ1.)

กระบวนการอบรม

ใช้กิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมหรือเกมเพื่อการเรียนรู้ ละครสั้น บทบาทสมมุติ การบรรยายเฉพาะเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญ การพูดคุยกลุ่มย่อย การรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องบทเรียนต่างๆ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ ความต่อเนื่องยั่งยืนและการขยายผล

  1. เกิดกระบวนกร ที่มีทักษะในการเป็นผู้นำในการจัดการประชุมแสวงหาข้อตกลงร่วมอย่างสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเรื้อรังอย่างลงลึกและรอบด้าน ทั้งในครอบครัว หน่วยงาน องค์กร และชุมชน
  2. ผู้ที่ได้เข้าร่วมการอบรมเกิดความมั่นคงภายในจิตใจ และสามารถเรียนรู้ เติบโตกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ เป็นกลุ่มแกนหลักในการขับเคลื่อนองค์กรและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง (change agent) ให้เกิดขึ้นในครอบครัว หน่วยงาน องค์กร และชุมชน
  3. สามารถสร้างเครือข่ายการทำงานเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยงงานระหว่างกันขึ้น ทั้งในและนอกหน่วยงานของตนเอง

ผู้เข้าร่วมอบรม

จำนวนไม่เกิน 36 คน

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมอบรม

  1. สามารถเข้าร่วมอบรมได้ตลอดต่อเนื่องทุกครั้งในระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 5 ครั้ง
  2. พร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้ มีความสนใจในการเป็นกระบวนกร/การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
  3. มีพื้นที่ เวทีในการทำงานชัดเจนที่สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์จัดการดำเนินการประชุมและสรุปบทเรียนการทำงาน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น วางแผนงานให้กับองค์กรและเครือข่าย หลังจากที่ผ่านการอบรม

วิทยากร

ปรีดา เรืองวิชาธร

สถานที่

ห้องโปร่งโล่งกว้างไม่มีสิ่งกีดขวาง เงียบสงบไม่มีเสียงรบกวน และเหมาะสำหรับทำกิจกรรมเคลื่อนไหว

Copyright © 2024 เสมสิกขาลัย. All Rights Reserved. | Fotografie Blog by Catch Themes
YouTube
FbMessenger
Tiktok