หลายต่อหลายครั้งที่เราบอกว่ารับฟังกัน แต่ทำไมเราไม่เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของกันและกันอย่างแท้จริง หรือว่าที่ผ่านมาแล้วเราฟังแค่เสียงที่ผ่านเข้าหูมา แต่ไม่เคยน้อมให้เสียงเหล่านั้นดังเข้ามาในจิตใจของเรา
ในสังคมปัจจุบันมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งขนาดเล็กๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อนฝูง และในที่ทำงาน จนถึงปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่ระดับประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งภายในจิตใจของเราเองก็มักจะเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่เสมอ
ในโลกแห่งความเป็นจริง พบว่าเรามีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่เสมอ แต่เมื่อเริ่มมีความเห็นที่แตกต่าง เราก็มักจะเริ่มปิดหู ทำให้เราไม่ได้ได้ยิน ปิดช่องทางการสื่อสารไปโดยไม่รู้ตัว ความแตกต่างหลากหลายเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกที่และทุกกลุ่ม หากเราขาดทักษะในการสื่อสารและการจัดการความเห็นที่แตกต่างเหล่านี้ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้กลับกลายเป็นความขัดแย้งและขยายตัวลุกลามไปสู่ความรุนแรงได้
เราอาจจะมีมุมมอง ความคิดเห็น มีความรู้สึก และมีความต้องการที่ต่างกัน จากความแตกต่างทางความคิด ได้กลายเป็นรอยร้าวที่ทำให้เกิดการไม่เข้าใจและเข้าถึงกัน เพียงเพราะว่า ยึดมั่นในความคิดความเชื่อของเรา จนไม่อาจจะรับฟังความคิดของอีกฝ่ายที่ต่างจากเราได้ เมื่อเราไม่สามารถรับฟังกันได้ ทำให้เรามีขีดจำกัดในการที่จะรับรู้ถึงความรู้สึก ความต้องการที่แท้จริงของกันและกันได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว เราทุกคนอาจจะมีความรู้สึกและความต้องการที่ไม่ต่างกันเลย ให้การฟังเป็นเหมือนประตูที่จะเปิดให้ใจของเราเชื่อมโยงเข้าถึงกัน
เสมสิกขาลัย ได้จัดทำ “โครงการฟังด้วยหัวใจ” เพื่อสร้างทักษะและถ่ายทอดเครื่องมือในการฟังให้กับคนทั่วไป ให้สามารถรับฟังและจัดการกับความขัดแย้งได้ ทั้งกับคนใกล้ตัวของตนเองและสังคมวงกว้าง
การฟังด้วยหัวใจจึงเป็นทั้งการเยียวยา ลดปัญหาความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่และป้องกันความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย หากเราลองเปิดใจรับฟังตัวเองและคนอื่นอย่างลึกซึ่ง เราอาจจะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว เราทุกคนล้วนมีความต้องการที่ไม่แตกต่างกัน เป็นเพื่อนมนุษย์ที่ต่างต้องการความสุข ไปพ้นจากความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น
จุดมุ่งหมาย
- เรียนรู้หลักการสันติวิธีเบื้องต้น
- ทบทวนการฟังของเราที่ผ่านมาว่าทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารอย่างไรบ้าง
- ฝึกฝนทักษะการรับฟังด้วยใจตามแนวทางการสื่อสารอย่างสันติ สัมผัสความรู้สึกความต้องการที่แท้จริงของกันและกันเพื่อให้พอมีวิชาติดตัว ไปรับฟังคนใกล้ตัว คนในบ้าน คนที่ทำงาน เพื่อนฝูง ผู้ป่วย
ให้ทักษะการรับฟังด้วยหัวใจได้เผยแพร่ไปในทุกครอบครัว ทุกที่ทำงาน ทุกชุมชน ให้คนทุกคนสามารถรับฟังกันและกันได้ ทั้งคนที่เห็นตรงและเห็นต่างจากเรา อันจะเป็นประตูที่นำไปสู่ความเข้าใจกัน เกิดความรัก ความกรุณาต่อกัน เห็นว่าเราต่างเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน ทำให้การลดความขัดแย้งทางความคิด และการใช้ความรุนแรงต่อกัน โดยเริ่มจากหน่วยเล็กๆ ในสังคม ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสังคมในวงกว้างให้มีสันติสุขต่อไป ให้พื้นที่แห่งความกรุณาในหัวใจของผู้คนในสังคมได้เปิดกว้าง ไม่คิดถึงแต่ตัวเองจนละเลยที่จะเข้าไปสัมผัสความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ช่วยเยียวยาผู้อื่นและสังคมในทางสร้างสรรค์ฟังแบบ เพื่อนฟังเพื่อน ลูกฟังพ่อ สามีฟังภรรยา แม่ฟังลูก
หัวหน้าฟังลูกน้อง ลูกน้องฟังเจ้านาย
ช่วยกันฟัง ช่วยกันรับรู้ความรู้สึก ความต้องการของกันและกัน
เนื้อหา
- ความสำคัญ และองค์ประกอบของความเป็นชุมชน เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
- การสร้างความไว้วางใจในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่ความศรัทธาต่อการเรียนรู้เพื่อเติบโตของตนเอง ความไว้วางใจต่อเพื่อนร่วมงาน ความไว้วางใจในเป้าหมายและโครงสร้างองค์กร เป็นต้น
- ระบบการสื่อสารที่สร้างสรรค์และเพียงพอ ศึกษาทั้งในแง่ปัญหา สาเหตุและทางออกรวมทั้งฝึกฝนทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพหลายทาง
- ทักษะการรับฟังอย่างลงลึก เพื่อจับประเด็นเนื้อหาสาระของเรื่องและเพื่อเข้าถึงความรู้สึกของคนอื่น
- การทำกิจกรรมผ่านประสบการณ์และสถานการณ์จำลอง เพื่อฝึกฝนการทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง และฝึกแก้ปัญหาด้วยพลังกลุ่ม
- กิจกรรมเพื่อเข้าถึงบุคลิกภาพทั้งตนเองและผู้อื่น เพื่อเข้าใจและยอมรับตนเองและผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีภายในกลุ่ม
- การฝึกฝนเพื่อเรียนรู้เรื่องมุมมองหรือทัศนคติที่แตกต่างกัน และท่าทีที่สร้างสรรค์ในการจัดการปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องจากมุมมองที่แตกต่างกัน
- ฝึกฝนการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ด้วยดนตรีบำบัด และการฝึกฝนทำสมาธิภาวนาเพื่อความสงบของจิตใจ
กระบวนการ
- สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยน
- เรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรง
- ใช้กระบวนการถอดบทเรียนจากกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมุมมองที่หลากหลาย และสามารถเชื่อมโยงความรู้ไปสู่ชีวิตจริง
ผู้เข้าร่วมอบรม
จำนวน 40 คน
วิทยากร
สถานที่
ห้องโปร่งโล่งกว้างไม่มีสิ่งกีดขวาง เงียบสงบไม่มีเสียงรบกวน และเหมาะสำหรับทำกิจกรรมเคลื่อนไหว
ระยะเวลาการอบรม
1 วัน
ตารางการอบรม
9.00 – 10.30 น. | แนะนำที่มาที่ไปของการอบรม / แนะนำตัว รู้จักกันก่อน / องค์ประกอบและหลักการพื้นฐานการสื่อสารอย่างสันติ |
10.30 – 10.45 น. | พักทานอาหารว่าง |
10.45 – 12.00 น. | ทบทวนอุปสรรคในการสื่อสาร Road Block Communication / ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความขัดแย้งตามหลักสันติวิธี |
12.00 – 13.00 น. | รับประทานอาหารกลางวัน |
13.00 – 15.30 น. | เรียนรู้ทักษะในการรับฟังด้วยหัวใจเพื่อเข้าถึงความรู้สึกและความต้องการ |
15.30 – 15.45 น. | พักทานอาหารว่าง |
15.45 – 17.00 น. | ฝึกทักษะการฟังด้วยหัวใจ (ไพ่แห่งความเข้าใจ:ความรู้สึก-ความต้องการ) / สรุปการเรียนรู้ ปิดวง |
*อาจมีการปรับเปลี่ยนเวลาและกิจกรรมเพื่อความเหมาะสมกับเนื้อหาและกลุ่มผู้เข้าร่วม