ผู้เขียน Panthipa Suksirisorn
วันเวลาที่ผ่านไปนั้น เมื่อประสบการณ์ชีวิตเรามากขึ้น องค์ความรู้ภายนอกจากผู้รู้ จากหนังสือหรือตำราเรียนที่เราเคยอ่านเคยได้ยินมา ช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ หรือส่งมอบผลงานให้เรามีความเก่ง มีความสามารถในการหาเงินเลี้ยงชีพดูแลตนเองได้ สามารถช่วยให้เรามีชีวิตรอดในสังคม
แต่จะมีกี่ครั้งที่เราได้มาสำรวจ “โลกภายใน” ของเราเองที่จะเป็นแก่นของตัวเรา และเป็นหลักที่เราใช้ดำเนินชีวิตได้ เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ได้น้อยไปกว่าโลกภายนอก
เมื่อพูดถึงการสำรวจโลก “ภายใน” (Inner) คำว่า ภายใน นี้ไม่ได้หมายถึง เครื่องใน ตับ ไต ไส้ พุง แต่หมายถึงความคิด สภาวะอารมณ์ ความรู้สึก ตัวตนภายในของเรา โดยในหัวข้อการออกแบบเครื่องมือสำรวจโลกภายในนี้เป็น “เครื่องมือ” ที่มีหัวใจสำคัญคือ การเข้าใจตัวเองหรือการเข้าใจผู้อื่น เป็นการเปิดพื้นที่หัวใจ ประกอบไปด้วย
- การตระหนักรู้ (Awareness) หมายถึง การที่เราตระหนักรู้ทั้ง อารมณ์ ความคิดหรือพฤติกรรมของเราในปัจจุบันขณะว่าเรากำลังมีความรู้สึกอะไร มีความรู้แบบไหนเข้ามา ร่างกายเราเกิดปฏิกิริยาอะไรบ้าง
- การสำรวจตนเอง (Self Reflection) หมายถึง การสำรวจว่าตัวเรานั้นชอบหรือไม่ชอบอะไร อยู่ในสภาวะอารมณ์แบบไหน ซึ่งช่วยให้เรามองในตัวเองชัดเจนมากขึ้น
- พื้นที่ปลอดภัย (Safe Space) ที่ไม่ได้หมายถึง รถไม่ชน ถนนไม่พัง สะพานไม่ผุ แต่หมายถึงกลุ่มคน หรือบรรยากาศที่เราสามารถเป็นตัวเองหรือเล่าเรื่องภายในทั้งความเจ็บปวด ความสุข เศร้าใจ หรือประสบความสำเร็จแบบไม่ต้องกลัวว่าใครมาตัดสินเรา
- การฟังอย่างลึกซึ้ง (Active Listening) หมายถึง การตั้งใจรับฟัง ผ่านการรับสัมผัสอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่าทาง รับฟังข้อความที่ถ่ายทอดออกมาจากผู้พูดทั้งจากตัวเราเองหรือจากผู้อื่น ที่ไม่ได้ฟังเพียงข้อความหรือฟังเพื่อตอบโต้จากการมุมในมุมมองของผู้ฟัง แต่เป็นการฟังเพื่อให้ผู้พูดได้สำรวจตนเองและยืนยันในสิ่งที่ตนเองเป็น
- การเข้าอกเข้าใจ (Empathy) หมายถึง การเอาใส่ใจต่อความรู้สึก สภาวะอารมณ์ ความคิดที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้พูด โดยที่ไม่ได้เอาประสบการณ์หรือเอาตัวตนของตนเองลงไปตัดสินถูกผิดในเรื่องราวต่างๆ แต่เป็นการร่วมรับรู้ ร่วมเป็นพยานต่อสิ่งที่ผู้พูดรู้สึกหรือได้ตัดสินใจลงไป
ซึ่งหากเราได้รับการเติมเต็มในส่วนของโลกภายในอย่างดีโดยมีองค์ประกอบทั้ง 5 อย่างนี้แล้วจะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจในตนเองทั้งความรัก ความโกรธ ความสุข ความกลัว ความเศร้า บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย บทเรียนชีวิต ซึ่งเครื่องมือของการสำรวจโลกภายใน อาจจะมีทั้งแบบทดสอบบุคลิกภาพ นพลักษณ์ สัตว์ 4 ทิศ ภาษารัก หรือแม้แต่รูปแบบความผูกพันธ์ที่เรามีจากการเติบโต การเลี้ยงดูหรือนิสัยส่วนตัวของเรา ก็ช่วยให้เรารู้จักตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้น
ถ้าหากเราลองมาออกแบบเครื่องมือเหล่านี้ด้วยมือของเราเองดูบ้าง อาจจะไม่ต้องทำอะไรที่ยาก แต่เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว ผ่านคอร์สอบรม “ออกแบบเครื่องมือเพื่อการสำรวจโลกภายใน” โดยเสมสิขาลัย (SEM) ที่จะพาให้เรามีประสบการณ์ในการสำรวจตนเองผ่านเครื่องมือต่างๆ ทั้งแบบการทำกิจกรรมและการเล่นเกม
ในการออกแบบเครื่องมือการสำรวจโลกภายในนี้เราจะต้องสวม 2 บทบาท เพื่อให้เราสร้าง การตระหนักรู้ในประสบการณ์ คือ บทบาทที่ 1 นักออกแบบประสบการณ์ และ บทบาทที่ 2 นักออกแบบเครื่องมือ และเครื่องมือสำหรับการสำรวจโลกภายในไม่ได้แบ่งกลุ่มเป็นเป็นสื่อสารสนเทศแบบเพลง คลิปวิดีโอ ที่เป็นการมองออกไปข้างนอก แต่หลักๆแล้วจะเป็นเครื่องมือที่เราใช้เพื่อการเปิดมุมมอง เพื่อการสะกิดใจ และเพื่อการเติมเต็มภายใน ซึ่งจะแบ่งเป็นประเภทดังนี้
- เครื่องมือแบบภาพ
- ภาพแบบ Abstract
- ภาพแบบไม่สมจริง เช่น ภาพวาด ภาพการ์ตูน
- ภาพถ่าย
2. เครื่องมือแบบคำนาม / ประโยค
3. เครื่องมือแบบคำถาม
- คำถามเชิงบวก หรือคำถามเชิงลบ
- คำถามปลายเปิด หรือ คำถามปลายปิด
หากเป็นเครื่องมือการสำรวจตนเอง (Self Reflection Tools) เราสามารถใช้งานได้เลย อาจจะไม่ต้องเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นคู่แต่เราสามารถมาทำคนเดียวได้เช่นกัน อาจจะเขียนลงไดอารี่ กระดาษโน็ต หรือสมุดบันทึกเพื่อการสะท้อนตนเอง หรือแม้แต่การวาดภาพก็ทำได้ แต่สำหรับหากใครสนใจการสำรวจโลกภายในแบบเกมจะมีองค์ประกอบของกลไก คือ
- เนื้อเรื่อง เช่น ทรัพยากร กระดาน
- เงื่อนไข / กติกา
- การได้คะแนน
- องค์ประกอบจำเป็น เช่น Token
- การจบเกม/เป้าหมาย ได้แก่ เวลา คะแนน จำนวนคน เกม
เป็นองค์ประกอบเดียวกันของการออกแบบเกม แต่เพียงเราไม่ได้เล่นเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่เป็นการเล่นเพื่อให้เรารู้จักสังเกตตนเองเป็นการเปิดพื้นที่หัวใจ เพื่อการเข้าใจตัวเองหรือการเข้าใจผู้อื่น
สิ่งที่ได้จากโครงการนี้
1. เรียนแล้วได้รู้ว่าการออกแบบเครื่องมือ ไม่ใช่เรื่องที่ยาก และเราสามารถสร้างสรรค์เครื่องมือสำรวจโลกภายในด้วยตนเองได้
2. ความประทับใจในคอร์สคือวิทยากรมีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่สอน สามารถตอบทุกข้อสงสัยของคนเข้าร่วมได้ ตั้งใจกับการสอนและเตรียมงานมาอย่างดี
3. ได้เห็นเครื่องมือการสะท้อนตนเอง/การสำรวจโลกภายในที่หลากหลายไม่ใช่แค่การเขียนบันทึกไดอารี่ แต่มีกิจกรรม มีเกม ที่ทำให้การสะท้อนตนเองเป็นเรื่องสนุกเข้าถึงได้ง่าย แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกก็สามารถร่วมสนุกได้
4. ได้เรียนรู้ข้อควรระวังในการออกแบบเครื่องมือการสำรวจโลกภายในและรู้ขอบเขตความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้