การอบรม “โอบอุ้มความเปราะบาง ภาวนากับการเยียวยาตัวเอง”ครั้งนี้ เป็นคอร์สที่ท้าทายเราพอสมควร เพราะเป็นมนุษย์ที่ไม่เคยเข้าคอร์สภาวนาใดๆมาก่อนเลย
แต่ด้วยจังหวะชีวิตที่เพิ่งรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะข้อมูลท่วมหัวเอาตัวไม่รอด วิธีการต่างๆที่ใช้สู้ชีวิตมาตลอดมันเริ่มไม่เวิร์คกับตัวเราในปัจจุบันแล้ว เรายังกลัวและ insecure อยู่มาก ไม่รู้ว่าจะรับมือกับความพังทลาย, แตกสลายด้วยการพึ่งตัวเราเองล้วนๆได้ยังไง?
ประจวบเหมาะกับได้รู้จักคอร์สนี้พอดี เมื่อกดเข้าไปศึกษารายละเอียดก็พบว่าน่าจะตรงกับสิ่งที่เรากำลังขาดอยู่ เลยขอลองดูสักตั้งดีกว่า
การเดินทาง 2 วันนี้ มีคุณวิจักขณ์ พานิช เป็นผู้นำกิจกรรมภาวนาตามแนวทางวัชรยาน
คอร์สนี้รูปแบบคือ ส่วนมากต่างคนต่างฝึกปฏิบัติอยู่กับตัวเอง สลับคั่นด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถาม ตอบ เป็นช่วงๆ โดยเริ่มฝึกจากพื้นฐานท่านั่งภาวนา-ฝึกความรู้สึกตัว ไปสู่การฝึกพื้นฐานบอดี้เวิร์ค (รู้สึกตัวผ่านจุดสัมผัสพื้น 10 จุด) จากนั้นขยับไปสู่การฝึกภาวนาแบบ grounding ลงพื้นดินซึ่งให้ความรู้สึกได้รับการโอบอุ้ม และปิดจบด้วยการลองฝึกโพธิจิต ทองเลนขั้นต้น
ปัจจัยสำคัญในการภาวนาที่ได้เรียนรู้จากคอร์สนี้มีสองสิ่ง คือ
- Space – หรือภาษาไทยคือ ความว่าง ความเปิดกว้าง ไร้เงื่อนไข ที่พ้นจากขอบเขตอำนาจของตัวตนหรือกรอบที่เราตั้งไว้ ประสบการณ์ที่ไปพ้นจากการควบคุม การพยายามจัดการ พื้นที่ที่เปิดกว้างนี้จะทำให้เราเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น
ซึ่งหนทางที่จะไปสัมผัส Space นี้ได้ คือ การผ่อนคลาย การปล่อย การวาง การพัก ไม่ทำอะไร รับรู้แล้วปล่อย
ท่าที่แบบนี้นำมาซึ่ง Gap ช่องว่างชั่วขณะที่เรารู้สึกเป็นอิสระ ความรู้สึกของการอยู่กับตัวเองได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ยอมรับ surrender กับสิ่งใดก็ตามที่เป็นอยู่ - วัตถุดิบในตัวเรา – เราภาวนาโดยสัมพันธ์กับตัวตน หรือpattern ที่เรามี ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่แต่ละคนมีอยู่ไม่เหมือนกัน – เมื่อเราอยู่กับ space หรือความว่างนี้ เราเพียงแค่นั่งภาวนาเหมือนไม่ได้ทำอะไร แต่เรากลับได้เห็นว่าจริงๆแล้วเราทำอะไรเยอะแยะอยู่ตลอดเลย นั่นคือวัตถุดิบที่จะปรากฏขึ้นในระหว่างที่เรานั่ง เรื่องราวในหัว ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ความเกร็ง ความปวดเมื่อยทางร่างกาย ความชอบ ความไม่ชอบ เฉยๆ สภาวะจิตต่างๆ
ยิ่งฟังคุณวิจักขณ์สอนและยิ่งได้ลองปฏิบัติตาม ก็ยิ่งรู้สึกว่าการภาวนามันตรงข้ามกับเราไปหมดเลย เพราะท่าทีของการภาวนาเรียกได้ว่าย้อนศร pattern ทั้งหมดที่เรามีจนติดเป็นนิสัยอัตโนมัติในชีวิต
ในชีวิตปกติเวลาเกิดรอยแผล รอยแตก สิ่งที่ไม่ชอบปรากฏขึ้นมา เราจะรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับมัน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์หาสาเหตุ หาวิธีแก้ไข ซ่อม หาอะไรมาปิดทับ เพื่อไม่แสดงความเปราะบางนั้นออกมาให้ใครเห็น เรายอมให้ใครเห็นแง่มุมนั้นไม่ได้ และเราเองก็ไม่ชอบแง่มุมเหล่านั้นด้วย
แต่สำหรับการภาวนา รอยแตกหรือรอยแยกของกำแพงไม่ใช่สิ่งน่าเกลียดน่ากลัวแบบนั้น แต่กลับเป็นแหล่งกำเนิดของ intelligent หรือสติปัญญามากมายซ่อนอยู่หากเราได้ทำงานกับมัน
ตัวเราเองมีประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้กลัวและกังวลต่อหลายสิ่ง รวมถึงต่อการภาวนาด้วย จึงต้องสู้กับตัวเองเหมือนกันที่จะฝึกย้อนศรความเป็นเราแบบเดิมๆ ฝึกอยู่กับสภาวะที่หลากหลาย,ท่วมท้นของตัวเองโดยไม่ไปลงมือทำอะไรกับมันหรือวิ่งหนีมัน เราเห็นมัน ดูมัน อยู่กับมัน
จนได้เห็นชัดว่าสิ่งที่ปั่นป่วนเรา จริงๆมันคือโลกภายในของเราเนี่ยแหละ แต่ปัจจัยข้างนอกของใหม่วันนี้ ถ้ามองจากมุมนอกตัวเรา มันไม่ได้มีอะไรน่ากลัวเลย
นอกจากนี้ ถ้าเราลองหยุดพัก ไม่ไปให้อาหารหล่อเลี้ยงสภาวะนั้นไปเรื่อยๆ จนมีจุดที่เกิด Gap แทรกพายุนั้น มันทำให้พายุนั้นดูไม่รุนแรงเท่าเดิมแล้ว และเห็นว่ามันเกิด-ดับ-เกิด-ดับ ไม่คงทนถาวรตลอดไปหรอก
การมาอบรมคอร์สนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ท่าทีใหม่ที่ใช้ปฏิสัมพันธ์กับตัวเองและโลก ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อนเลย หลังจากนี้จะลองกลับไปประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน แล้วคอยสังเกตดูต่อไปว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง
To be continued (EP.2) …