ผู้เขียน ชนาธิป (จอย)
https://www.facebook.com/enjoythinkingth
วันก่อนไปเรียนคอร์ส Non-Violent Communication เป็นการเรียนรอบที่สอง ครั้งแรกเรียนเมื่อสามปีที่แล้ว ตอนนั้นเรียนจบก็เอาไปฝึกใช้จนรู้สึกเข้าอกเข้าใจความรู้สึกและความต้องของตัวเองและผู้อื่นได้ชัดเจนและลึกซึ้งขึ้น เราเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมากขึ้นเยอะเลย อันนี้ชอบมากจริงๆ
สมัยตอนเป็นเด็กน้อย เราจะสามารถ express ความรู้สึกและความต้องการได้อย่างตรงไปตรงมา ต่างจากตอนนี้ที่เราเติบโตมากับการถูกสอนว่าโลกมันมีกรอบขนมธรรมเนียมวัฒนธรรมมากมายที่ควรหรือไม่ควรทำนะ สิ่งเหล่านี้ก็เลยจำกัดการแสดงอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงไป พอเรารู้สึกหรือต้องการอะไรก็จะมีความกังวลในใจว่าถ้าบอกออกมาตรงๆ สังคมจะรังเกลียดไหมน้า อะเก็บไว้ใจในละกัน แต่ความอยากนั้นก็ยังวนๆ อยู่ไม่ไปไหน หรือถ้าเราจะแสดงออกมาเลยก็อาจโดนหาว่าเอาแต่ใจอีก จะทำอะไรมันก็เก้ๆกังๆ ไม่รู้จะเอาไงดี กลัวคนอื่นจะเข้าใจเราผิด นี่แหละคือปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เราเลยอยากได้วิธีที่จะจัดการกับสภาวะแบบนี้
สิ่งที่คอร์สนี้สอน คือ วิธีการสื่อสารแบบ Non-Violent Communication ซึ่งถูกคิดค้นโดย ดร. Marshall Rosenberg เป็นวิธีการสื่อสารที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย ทั้งในด้านของความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริง
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคอร์สนี้คือ หลักการสื่อสารแบบ Non-Violent Communication โดยการใช้เทคนิค การสังเกตความรู้สึกความต้องการและการขอร้องหาวิธีตอบสนองที่ถูกต้อง โดยใช้การใช้ภาษาแบบยีราฟ ซึ่งปกติภาษาการสื่อสารทั่วไปจะมีสองแบบ คือ ภาษาหมาป่า vs ภาษายีราฟ
– ภาษาหมาป่าหูออก : คือการสื่อสารแบบตัดสินต่อว่าตีความกล่าวโทษผู้อื่น ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบต่อสู้ปกป้องตัวเอง ชวนทะเลาะ เพื่อเอาชนะ อยากเป็นฝ่ายถูก ไม่สนใจความสัมพันธ์
– ภาษาหมาป่าหูเข้า : คือการสื่อสารแบบตัดสินต่อว่าตีความกล่าวโทษตัวเอง เป็นการหนีปัญหา ประชดประชัน ทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนแอ ไร้ความสามารถ Powerless ปล่อยมือจากความสัมพันธ์
– ภาษายีราฟหูออก : คือการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น
– ภาษายีราฟหูเข้า : คือการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง
คอร์สนี้ทำให้เรารู้ว่าต่อให้อีกฝ่ายสื่อสารแบบหมาป่ามา เราก็สามารถที่จะสื่อสารแบบยีราฟกลับไปได้ แล้วอีกฝั่งก็จะเบาลงเอง เราต้องเป็นฝ่ายเริ่มการสื่อสารแบบยีราฟก่อน อย่าไหลตามหมาป่าไป ต้องตั้งสติเอายีราฟหูออกในตัวเองออกมาสานสัมพันธ์ให้ได้ ค่อยๆ รับฟังและเดาความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายก่อน เมื่ออีกฝ่ายรู้สึกว่าได้รับการรับฟังและมีคนเข้าใจเค้า เค้าก็จะลดอารมณ์ที่รุนแรงลงและเริ่มจะเปิดใจที่จะรับฟังเราบ้างเหมือนกัน แล้วเราค่อยใช้ยีราฟหูเข้า บอกความรู้สึกและความต้องการของตัวเองไป
กระบวนการตลอดสองวันเต็มในคอร์สถูกจัดเรียงมาเป็น step by step อย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ความสำคัญของการสื่อสาร วิธีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างการสื่อสารแต่ละแบบ ทำให้เราเข้าใจถึงวิธีการที่ส่งผลต่อความรู้สึกของคู่สนทนาจริงๆ เป็นการจำลองสถานการณ์ที่ชัดเจนมากๆ เพราะการที่เราเป็นคนพูด บางทีเราไม่รู้เลยนะว่าคนฟังเค้าจะรู้สึกยังไง บางทีเราพูดด้วยความหวังดีของเรา แต่คนฟังดันรับรู้ถึงความรู้สึกกดดันก็ได้ แบบนี้คือการส่งสารกับรับสารไม่ตรงกันแล้ว มันก็ไม่มีทางเข้าใจความตั้งใจจริงๆ กันหรอก ดังนั้นการได้มานั่งในคลาสที่เราได้เป็นบุคคลที่สาม มองดูฝ่ายหนึ่งสื่อสารกับอีกคน ทำให้เราเห็นมุมมองทั้งสองฝั่งได้ชัดเจนมากขึ้น และในคลาสก็มีช่วงเวลาให้เราได้ลองลงมือปฏิบัติเอง ได้ลองเป็นทั้งหมาป่า, ยีราฟ และคนฟังทั้งสองแบบเลย มันก็ยิ่งทำให้เราได้รับรู้ถึงความรู้สึกจริงๆ ว่าการพูดและได้ยินคำต่างๆ แต่ละแบบนั้นมันทำให้รู้สึกยังไง และได้ก็เป็นการฝึกฝนความเป็นยีราฟในตัวเองอีกด้วย
ประเด็นสำคัญของการสื่อสารแบบ Non-Violent Communication คือ Empathy การแสดงความพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายรับรู้สึกถึงความสนใจใส่ใจ (ไม่ใช่การแก้ปัญหา) ถึงแม้ว่าเราจะเดาความรู้สึกเค้าผิดก็ตาม เค้าก็จะรับรู้ถึงความสนใจห่วงใยของเราแล้ว และเค้าก็จะอธิบายออกมาให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้นเอง การที่มีคนรับฟังจะทำให้เค้าได้พูดความในใจออกมา และได้เรียบเรียงความคิดตัวเองที่เคยเป็นหมอกครุมเครืออยู่ในใจ มันเป็นการ organize ความคิดตัวเอง จนบางครั้งพอพูดจบเค้าก็ได้คำตอบให้ตัวเองได้เลย เพราะการตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายโดยไม่สนใจความรู้สึกและการเข้าอกเข้าใจกันจริงๆ เป็นการสื่อสารที่บั่นทอนความสัมพันธ์ บางคนเค้าเพียงแค่อยากให้มีคนรับฟังและเข้าใจเค้า อาจจะไม่ต้องแก้ปัญหาให้ก็ได้ เมื่อเกิดการรับฟังจนเข้าอกเข้าใจกันแล้วก็จะทำให้ทั้งคู่รู้สึกเชื่อมโยงเข้าถึงกัน จากนั้นก็ค่อยไปหาวิธีที่จะตอบสนองความต้องการกันต่อไป และถ้าความต้องการของอีกฝ่ายมันมากเกินไป เราก็ไม่จำเป็นต้องตกลงยอมทำตามความต้องการเค้าทุกอย่างก็ได้ เราควรบอกความต้องการของเราด้วย (ยีราฟหูเข้า) และหาวิธีที่เป็นจุดตรงกลางที่จะตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายได้ ซึ่งรูปแบบการสื่อสาร แบ่งเป็น คำพูด 7% น้ำเสียง 38% ท่าทาง 55% ดังนั้นการสื่อสารทั้งความรู้สึกและความต้องการ ต้องแสดงออกทุกรูปแบบไปในทิศทางเดียวกันด้วย ไม่ใช่คำพูดดี แต่น้ำเสียงห้วนและชักสีหน้าใส่ การสื่อสารนี้ก็จะตีความไปเป็นคนละอย่างเลย
การสังเกตคำพูดและการกระทำ แล้วค้นหาความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง จะทำให้เกิดความเข้าใจในพลังชีวิต แล้วเราจะหาวิธี (มีหลากหลายวิธี) ตอบสนองต่อความรู้สึกและความต้องการตัวเองได้อย่างถูกต้อง และเมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง เราก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกมีอำนาจในตัวเองที่จะเลือกจะทำหรือไม่ทำอะไร แบบไหน พอเราเติมเต็มความต้องการตัวเองจนรู้สึกดี มีพลังชีวิตมากแล้ว เราก็จะเป็นอิสระด้วยตัวเองได้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นด้วย ไม่ต้องไปเรียกร้องให้ใครมาช่วยทำอะไรเพื่อให้เราได้รับสิ่งที่ต้องการและรู้สึกดีเพราะคนอื่นอีกต่อไป
บอกเลยว่าคอร์สนี้เหมาะกับคนที่อยากเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น คนที่อยากเข้าอกเข้าใจคนรอบตัวมากยิ่งขึ้น แค่ใช้ Non-Violent Communication ให้เป็น คุณจะกลายเป็นคนรู้ใจของใครหลายๆ คนเลยแหละ สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นกับแฟน กับเพื่อน กับคนในครอบครัว กับลูกค้า กับทีมงาน กับผู้คนที่ต้องพบเจอในสังคม ไม่ว่าคุณจะเจอใคร คนนั้นจะอยากพูดคุยกับคุณ คุณจะกลายเป็นคนที่ใครก็อยากเข้าหา เพราะคุณมีเทคนิคมัดใจ ที่ทำให้คุณกับคู่สนทนาเข้าอกเข้าใจกันถึงระดับความรู้สึกและความต้องการของกันและกัน ไม่แปลกเลยที่ทุกคนก็อยากจะเข้าใกล้สนิทสนมกับคุณ
ใครสนใจการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการสื่อสารแบบนี้ เราขอแนะนำให้ไปลงเรียนคอร์ส การสื่อสารอย่างสันติ Non-Violent Communication โดยอาจารย์หลิน ดร.ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ และอาจารย์เหล่น จันทร์ทิพย์ ปิยะวรธรรม ที่สถาบันเสมสิกขาลัย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป https://semsikkha.org/
หรือถ้าอยากเข้าใจเนื้อหาบางส่วนก่อนไปลงเรียน ก็ไปอ่านสรุปได้ที่เฟสบุ๊คเพจ Enjoy Thinking ในโพสนี้ bit.ly/ETarticle7