ผู้เขียน Nan Achara

ฉันเพิ่งวางสายจากการคุยกับลูกวัยรุ่น บทเรียนของครูยังเปิดกางอยู่ในมือ ถึงแม้จะไม่ได้สำเร็จจบ happy ending ด้วย action plan ตามทฤษฎีขั้นตอน Co-Active Coaching ในการนำมาใช้จริงครั้งแรกนี้ แต่ mindset ที่ได้จากห้องเรียนเมื่อสองวันที่แล้วช่วยให้บทสนทนายาวชั่วโมงครึ่งของเราจบด้วยพลังบวก อย่างที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ฉันกำลังตื้นตันใจที่จะเล่าถึงการนำบทเรียนที่ได้จากหลักสูตร Life Coaching (การโค้ชเพื่อเสริมสร้างพลังชีวิต) โดยเสมสิกขาลัย นำทางโดยครูจ๊ะ จีรนันท์ หลายพูนสวัสดิ์ และครูนะ ณฐ ด่านนนทธรรม เมื่อวันที่ 7-9 มีนาคม 2568 ที่เรือนร้อยฉนำ กรุงเทพฯ
Life Coaching ตามแนวทางของ Co-Active Coaching by Co-Active Coaching Institute (CTI) เป็นแนวทางการสนทนาที่ทำให้คู่สนทนาที่เราโค้ช สามารถค้นพบทางออกของปัญหาด้วยตัวเอง อาศัยคำถามอันทรงพลัง (Powerful questions) การรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Listening) การใช้ญาณทัศนะจับประเด็นระหว่างการคุย (Intuition) เพื่อให้ผู้รับการโค้ชเห็นจุดที่ตนเองยืนอยู่และหนทางที่จะก้าวไปชัดเจนขึ้น นำสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองและใช้ชีวิตอย่างเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ โค้ชทำหน้าที่ให้เราเข้าสู่ปัญหาอย่างตรงจุด ช่วยให้เราตระหนักถึงคุณค่าที่มี รู้สึกสัมผัสกับปัญหาโดยตรง และเปลี่ยนผ่านไปเห็นทางออกด้วยตัวเอง
ตลอดสามวันในหลักสูตร ฉันได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และฝึกฝนทักษะหลายอย่างที่จำเป็นในการเข้าใจ และช่วยเหลือผู้รับการโค้ช สิ่งแรกที่ได้ฝึกและสำคัญมากก็คือ “ทักษะการรับฟัง” (Listening) ซึ่งเป็นการ”รับฟัง”ที่จดจ่ออยู่ที่ผู้รับการโค้ช โดยไม่คิดวอกแวกถึงความเห็น ความรู้สึก และการสรุปตัดสินของเรา เพื่อให้เราสามารถเปิดกว้างรับฟังทุกสิ่ง รับได้ถึงพลังระหว่างเรากับผู้รับการโค้ช สร้างความเชื่อใจ เปิดสัมผัสทั้งหก อนุญาตให้ญาณทัศนะได้ปรับสัญญาณจูนคลื่นเดียวกับผู้รับการโค้ช เพื่อความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง
ทักษะนี้เป็นทักษะที่ฉันได้นำมาใช้ในการคุยโทรศัพท์กับลูกที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดในคืนนี้ และมันเปลี่ยนประสบการณ์การสนทนาของเรา จากที่ต่างมุ่งมาดให้อีกฝ่ายยอมรับความคิดของตน เป็นการหยุดความต้องการทุกอย่างในใจเรา และนิ่งฟังลูกด้วยทุกประสาทสัมผัสของร่างกาย ความรู้สึกใหม่ที่เข้ามาคือการได้ยินความรู้สึกของเขา และก่อร่างความไว้วางใจ ว่าเขาจะสามารถแก้ปัญหาได้เองอย่างรอบคอบ และลูกก็ตอบรับพลังบวกนี้อย่างน่ายินดี
หลาย ๆ การแลกเปลี่ยนบทสนทนา จากที่แม่เคยยัดเยียดคำแนะนำ กลายมาเป็นได้ลองโอกาสใช้ Coaching Skills หลายอย่าง อาทิ การสะท้อนความเห็น (Articulate what’s going on) ตั้งคำถามสร้างความเข้าใจชั้นความคิดของลูก (Powerful questions) และรับทราบทางเลือกการแก้ปัญหาที่เขาคิดใคร่ครวญมาดีแล้ว เราได้ใช้เทคนิค Self Management (การจัดการตัวตน) ในขั้นตอนนี้ ต่อมาคือแสดงความตระหนักรู้ (Acknowledgement) รับทราบและชื่นชมในการเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขของเขาที่จะนำไปลองใช้ ฉันได้ให้กำลังใจลูก (Championing) ว่าเขาจะทำได้ และแม่อยู่ปลายสายเสมอเพื่อจะรับฟังทุกเรื่องราว มีการร้องขอ (Request) ให้เขาคงไว้ซึ่งความสุขุมและเมตตาเสมอในสถานการณ์ที่ท้าทาย (Transformation) ลูกตอบรับการสนทนานี้อย่างเป็นบวก และฉันรู้สึกดีใจมากที่เราจะได้ซ่อมสร้างความทรงจำดี ๆ ร่วมกันต่อไป
หลักสูตร Life Coaching นี้ มีกิจกรรมสร้างความเข้าใจในบทเรียน และทดลองปฏิบัติกันหลายรอบต่อวัน โดยครูทั้งสองท่านแสดงการโค้ชร่วมกับอาสาสมัครในห้อง และให้เราลองฝึกโค้ชกันเป็นคู่ ซึ่งมีประโยชน์มากในการช่วยให้เราตระหนักส่วนที่เราต้องปรับปรุงและพัฒนามากขึ้นต่อไป ครูจ๊ะกับครูนะใจดีมาก เมตตาตอบคำถามอย่างละเอียด ไม่เร่งรีบ เพื่อนร่วมชั้นเรียนมีอัธยาศัยดีมาก เปิดใจเต็มใจช่วยเหลือการเรียนรู้ของกันและกัน สถานที่สะอาดและสะดวกต่อการเรียน ผู้ประสานงานทุกท่านมืออาชีพและช่วยเหลือดีมาก
หลักสูตรนี้มีประโยชน์นอกเหนือจากการนำทักษะต่าง ๆ มาใช้ในการเคารพ เชื่อมั่น และให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยผ่านทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว เรายังสามารถใช้เทคนิคการโค้ชในการช่วยเหลือคู่สนทนาให้เห็นความสามารถและคุณค่าของตน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความมั่นใจในตนเอง ความมั่นใจในพลังบวกของสิ่งรอบตัว และเดินต่อไปอย่างมีกำลังใจสู่ความสำเร็จที่ตั้งใจ หลักสูตรนี้จึงเหมาะกับคนที่อยากเป็นโค้ช และทุกคนที่ปฏิสัมพันธ์กันในสังคม ให้มีความเชื่อในความรู้และความดีในส่วนลึกของกันและกัน นำพาคนแวดล้อมเราไปสู่ความคิด แนวคิดการเปลี่ยนแปลง และทางเลือกที่สร้างสรรค์ ด้วยตัวเอง