วรรณา จารุสมบูรณ์
อดีตนักกิจกรรมจากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดลที่สนใจงานพัฒนาสังคม เคยเป็นประธานชมรมสลัมและมีบทบาทสำคัญในสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งจบการศึกษาปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาการพยาบาลและผดุงครรภ์ ( รามาธิบดี ) และได้ทำหน้าที่พยาบาลวิชาชีพอยู่ในหอผู้ป่วยสังเกตอาการและแผนกฉุกเฉิน ( ER ) อยู่ 2 ปี
ความที่สนใจงานพัฒนาและอยากใช้วิชาชีพพยาบาลที่เรียนมาเพื่อช่วยเหลือคนที่ทุกข์ยากจากปัญหาสุขภาพมากกว่าตั้งรับอยู่แต่ในโรงพยาบาล ทำให้ตัดสินใจผันชีวิตมาทำงานวิชาการด้านสังคม โดยเริ่มต้นศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สาขาการแพทย์และสาธารณสุข (มหาวิทยาลัยมหิดล) และเป็นนักวิจัยอยู่ที่ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข คณะสังคมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นระยะเวลา 5 ปี และเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อีก 3 ปี โดยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอดส์ นโยบายบัตรสุขภาพ ระบบประกันสุขภาพโดยความสมัครใจ แรงงานข้ามชาติ การค้าประเวณีในเขตลุ่มแม่น้ำโขง และอนามัยเจริญพันธุ์ในสตรีที่เป็นแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
ปี 2544 เริ่มหันมาสนใจงานด้านกระบวนการ โดยทำโครงการเชิงรุกร่วมกับสสส. เพื่อพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาพในดวงใจ และโครงการโรงเรียนแสนสุข โดยเน้นการพัฒนาโรงเรียนแบบทั้งระบบ ซึ่งทำให้ต้องเรียนรู้เรื่องการออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ กระบวนการฝึกอบรมครูและนักเรียนเพื่อทำโครงการพัฒนาในโรงเรียน การพัฒนาศักยภาพครูให้เป็นผู้นำการเรียนรู้ในชั้นเรียน การทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย ได้ร่วมงานกับเหล่ากระบวนกรฝีมือฉกาจจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) กลุ่มสื่อชาวบ้านมะขามป้อม กลุ่มละครการศึกษากระจิดริด ฯลฯ
ในระหว่างที่ยังสนุกกับการเดินทางและงานฝึกอบรม บิดาได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้มาสนใจเรื่องการเตรียมตัวตาย จึงเริ่มผสมผสานความเข้าใจเรื่องการตายกับการออกแบบการเรียนรู้ที่ทำให้คนหันมาเปลี่ยนแปลงตนเอง และปรับทัศนคติในการดำเนินชีวิต โดยได้ทดลองทำกระบวนการเผชิญความตายอย่างสงบ จนกระทั่งเครือข่ายพุทธิกา โดยพระไพศาล วิสาโล ได้ชักชวนเข้าร่วมโครงการเผชิญความตายอย่างสงบในเวลาต่อมา และรับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ ตั้งแต่ปี 2549 – ปัจจุบัน โดยดูแลงานด้านการฝึกอบรม งานอาสาสมัครข้างเตียง งานเครือข่ายการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย และอื่นๆ และเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และนักพัฒนา ในเรื่อง การพัฒนาและการเขียนโครงการ กระบวนการถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ และการติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วม
เป็นวิทยากรในหัวข้อดังนี้
- เผชิญความตายอย่างสงบ
- เยียวยาผู้ดูแลผู้ป่วย
- ศิลปะของการตายความหมายของการมีชีวิต