พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง

ผู้ริเริ่มโปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและเด็กป่วยระยะสุดท้าย ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พญ.พัชรินทร์ หมอสาวเมืองเหนือ จบแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2537 และหลังจากใช้ทุนเรียนแล้ว หมอโจ้ ก็ได้เข้ามาศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และตอนนั้นเองที่ทำให้ได้พบแรงบันดาลใจจากคนป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และเป็นสิ่งที่พลิกชีวิตแพทย์คนหนึ่งให้เบนเข็มไปศึกษาต่อในศาสตร์แขนงอื่น นั่นคือ “ศิลปะ”

กระทั่งเรียนจบ พญ.พัชรินทร์ ก็ได้นำความรู้ที่มีทั้งการแพทย์ด้านจิตเวชและศิลปะมาผสมผสานเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นวิธีการบำบัดโรคที่เรียกว่า “ศิลปะบำบัด” ในที่สุด สำหรับศิลปะบำบัดในความหมายของ พญ.พัชรินทร์ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “ในกรณีที่ใช้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ศิลปะบำบัดคือ การที่ผู้ป่วยได้ค้นพบความต้องการของตนเอง ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาคำตอบ หรือตอบสนองความต้องการนั้น ๆ 

ผลก็คือ ผู้ป่วยจะไม่จมอยู่กับโรค หรือความเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญมากจนเกินไป แต่จะยังสามารถแบ่งเวลาและพลังงานมาพิจารณาแก่นของปัญหาให้ชัด ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดการคลี่คลายของปัญหา แม้บางครั้งจะเป็นเพียงการคลี่คลายทางความรู้สึก แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ด้วยใจที่สงบลง ไม่ร้อนรุ่มหรือหมกมุ่นอยู่แต่กับปัญหาที่ไม่มีทางออก 

หน้าที่ของคนรอบข้างคือ การพยายามสนับสนุนและช่วยกันค้นหาสิ่งที่เป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เจอ สิ่งใดก็ตามที่เขาทำแล้วเป็นสุข อาจเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึก ทำให้ชีวิตของเขามีความหมาย มีความสมบูรณ์ นั่นคือหน้าที่ที่เราจะต้องช่วยเขาค้นหาและตอบสนอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การทำศิลปะบำบัดนั้นเน้นผลทางด้านจิตใจ เช่น คลายความกังวล อาการซึมเศร้า การย้ำคิดย้ำทำ หรืออาการทางจิตที่ไม่รุนแรง เราไม่ได้นำศิลปะมาใช้บำบัดโรคทางกาย ศิลปะบำบัดไม่ได้ทำให้ก้อนมะเร็งหายไป แต่ทำให้อยู่กับก้อนนั้นอย่างเป็นสุขขึ้น ไม่ทุรนทุราย”

นอกจากความสนใจในงานศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ปัจจุบัน พญ.พัชรินทร์ ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปะบำบัดขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมการทำศิลปะบำบัดกับคนกลุ่มอื่นๆที่ต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจด้วย อาทิเช่น กลุ่มผู้พิการซ้ำซ้อน กลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก และรวมทั้งสนับสนุนการศึกษาด้านศิลปะบำบัดในประเทศไทย

เป็นวิทยากรในหัวข้อดังนี้

Copyright © 2024 เสมสิกขาลัย. All Rights Reserved. | Fotografie Blog by Catch Themes
YouTube
FbMessenger
Tiktok